ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับหลักการของอิสลาม

    วิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบัน  มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และความก้าวหน้าบางอย่างส่งผลกระทบต่อแนวคิดด้านศาสนาและจริยธรรม เช่น การเริ่มต้นและการสิ้นสุดของชีวิต การใช้ประโยชน์และการทำลายตัวอ่อนที่ผสมแล้ว (stem cell) การทำซ้ำหรือโคลนนิ่ง (cloning) เป็นต้น  ประเด็นเหล่านี้ ไม่เคยเกิดขึ้น มาก่อนในยุคของนักวิชาการชั้นนำทางศาสนา  จึงตกเป็นหน้าที่ของนักวิชาการนิติศาสตร์อิสลามยุคปัจจุบัน และแพทย์มุสลิมที่จะต้องศึกษา  ทำความเข้าใจ  และตอบประเด็นต่างๆ เหล่านี้ให้ได้  โดยอาศัยการวิเคราะห์จากคัมภีร์อัลกุรอาน  และ จากจริยวัตรของศาสดา (ซุนนะห์) เป็นหลัก และโดยธรรมชาติของการวิเคราะห์    นั้น ย่อมเกิดความเห็นหลากหลายในประเด็นเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องยึดถือทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่ในการนำไปปฏิบัติ
           เอกสารวิชาการนี้จัดทำขึ้นโดยการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางเว็บไซต์ต่างๆ  ที่ให้บริการด้านการตอบปัญหาทางศาสนา (ฟัตวา)  เนื่องจากข้อมูลทางการแพทย์สมัยใหม่ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย และเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน  เป็นเรื่องยากที่ประชาชาชนทั่วไปจะทำความเข้าใจ เพราะตำราในเรื่องเหล่านี้โดยตรงมีน้อย
                ผมหวังว่าเรื่องนี้  คงจะเกิดประโยชน์กับผู้อ่านและเป็นการเปิดประเด็นการถกเถียงทางวิชาการอย่างกว้างขวาง ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยทางการแพทย์สมัยใหม่  ดังรายละเอียดที่จะกล่าวต่อไปนี้

ประเด็นเรื่องชีวิต - การเริ่มต้น และ การสิ้นสุด                 การเริ่มต้นชีวิต จากบทวิเคราะห์ของ ดร.อับดุลเลาะห์ บาสะลามะห์ (อาจารย์แผนกนรีเวช จากมหาวิทยาลัยแพทย์ เจดดาห์ ซาอุดิอาระเบีย) และจากข้อสรุปผลการประชุมสัมมนาในหัวข้อ  เรื่อง ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นและสิ้นสุดตามทัศนะอิสลาม  ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันของแพทย์มุสลิม   นักนิติศาสตร์อิสลาม และนักวิชาการด้านศาสนาอิสลาม ที่โรงแรมฮิลตัน ประเทศคูเวต ระหว่างวันที่  15-17 มกราคม ค.ศ. 1985   พอจะประมวลเรื่องการเริ่มต้นของชีวิตได้ดังนี้:-

                ชีวิตมีอยู่แล้วในสเปิร์มของชาย และไข่ของหญิง  แต่เป็นชีวิตที่ยังไม่มีศักดิ์ศรี และไม่ห้าม   ทำลาย  การเริ่มต้นของชีวิตที่มีศักดิ์ศรีและห้ามทำลายนั้น  นักนิติศาสตร์อิสลามมีความเห็นต่างกัน     เป็น  3  ทัศนะ ดังนี้
                ทัศนะที่หนึ่ง : ชีวิตเริ่มต้นเมื่อมีปฏิสนธิในครรภ์  ซึ่งภาษาอรับเรียกว่า นุตฟะห์
                ทัศนะที่สอง : ชีวิตเริ่มต้นเมื่อวิญญาณถูกใส่เข้าในร่าง คือเมื่อตั้งครรภ์ได้  120 วัน
                ทัศนะที่สาม: ชีวิตเริ่มต้นเมื่อทารกเริ่มเคลื่อนไหวขณะอยู่ในครรภ์คือเมื่อตั้งครรภ์ได้ 4วัน
                เมื่อติดตามขั้นตอนของการเกิดชีวิตมนุษย์ ภายในมดลูกเราพบว่าผ่านขั้นตอนต่างๆมากมาย
คัมภีร์อัลกุรอานได้บรรยายขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ไว้อย่างละเอียด
                อัลเลาะห์ตาอาลาตรัสว่า :
                "แท้จริงเราได้สร้างมนุษย์ขึ้นมาจากธาตุดิน หลังจากนั้นเราได้สร้างเขา ขึ้นมาจากการปฏิสนธิในที่พำนักอันมั่นคง หลังจากนั้นเราได้สร้างจากการปฏิสนธินั้น เป็นก้อนเลือด เราได้สร้างก้อนเลือดเป็นก้อนเนื้อ เราได้สร้างก้อนเนื้อเป็นกระดูก เราได้ห่อหุ้มกระดูกด้วยเนื้อ  หลังจากนั้น      เราได้สร้างเขาเป็นรูปร่างอีกอย่างหนึ่ง   อัลเลาะห์ทรงจำเริญ  พระองค์เป็นผู้สร้างที่งดงามที่สุด “   (อัลมุอ์มินูน 12-14)
                อัลกุรอานได้บรรยายการสร้างมนุษย์ไว้อีกว่า :
                “แท้จริงเราได้สร้างมนุษย์ ขึ้นมาจากน้ำเชื้อที่ผสมกัน� (อัลอินซาน 2)  คือน้ำเชื้อที่ผสมกันระหว่างเชื้อสเปิร์มของชายและไข่ของเพศหญิง “
                อัลเลาะห์ตาอาลาได้ตรัสอีกว่า :
                “เรา (อัลเลาะห์) ได้สร้างมนุษย์ ขึ้นมาจากน้ำเชื้อ  แล้วเขาก็เป็นปรปักษ์อย่างชัดเจน
(อันนะห์ลิ 4)  หมายถึง  มนุษย์นั้นเกิดจากน้ำเชื้อ.”
                และพระองค์ตรัสว่า :
                “พระองค์สร้างมนุษย์ขึ้นมาจากก้อนเลือ (อัลอะลัก 2)  หมายถึง ขั้นตอนของก้อนเลือดก่อนถึงขั้นตอนของมนุษย์”
                หลังจากนั้นพระองค์ได้ตรัสว่า :
                “ขอสาบานว่า  เราได้สร้างมนุษย์ขึ้น  มาในรูปร่างที่สวยงามยิ่ง”  (อัฏฏีน 4)

การสิ้นสุดของชีวิต                 หลักการตัดสินความตายนั้น นักวิชาการอิสลามและแพทย์มุสลิม มีทัศนะต่างกันเป็น 2 กลุ่ม คือ แพทย์และนักวิชาการด้านศาสนากลุ่มหนึ่ง มีความเห็นว่า ผู้ที่มีก้านสมองตายนั้นถือว่าเป็นคนตายแล้วตามบัญญัติศาสนา เนื่องจากก้านสมองเป็นศูนย์รวม ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างที่แสดงถึงการมีชีวิตของร่างกาย การที่หัวใจยังเต้นอยู่ได้ด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจเทียม ไม่ได้เป็นเครื่องชี้ว่าเขายังมีชีวิตอยู่ แพทย์กลุ่มนี้มีความเห็นว่า อาการสมองตายเป็นความตายที่แท้จริง จึงอนุญาตให้นำเอาอวัยวะไปปลูกถ่ายให้ผู้อื่นได้  การใช้เครื่องช่วยหายใจเทียมเพื่อช่วยให้ระบบการไหลเวียนของเลือดทำงานอยู่โดยที่สมองไม่ทำงานแล้วนั้นถือว่าเป็นการทำลายทรัพย์ และการใช้จ่ายทรัพย์โดยไม่เป็นประโยชน์นั้นเป็นสิ่งที่ศาสนาห้ามเช่นเดียวกับการทำให้ผู้อื่นได้รับอันตราย
                การจะวินิจฉัยว่าก้านสมองตายนั้น มีเงื่อนไขหลายประการและอยู่ในความเห็นของแพทย์   ผู้เชี่ยวชาญ  ความเห็นของนักนิติศาสตร์อิสลามส่วนหนึ่งเห็นว่ามนุษย์ที่ถึงขั้นสมองตาย ถือว่าชีวิตได้ออกไปจากเขาแล้ว  และอนุญาตให้หยุดเครื่องช่วยหายใจเทียมได้  ดร.อะห์หมัด  อัลฆุบารีย์ หัวหน้าแผนกอายุรกรรมของมหาวิทยาลัยแพทย์อัลอัซฮัร เห็นด้วยว่าอาการสมองตาย เป็นความตายที่แท้จริง ซึ่งอนุญาตให้นำเอาอวัยวะไปปลูกถ่ายให้ผู้อื่นได้  ภายหลังจากสมองคนตายแล้ว เขากล่าวว่า ทางด้านวิชาการและกรอบของการศึกษาวิจัย ข้าพเจ้าเห็นว่าความตายที่แท้จริงคือความตายที่ก้านสมอง และวิงวอนต่ออัลเลาะห์อย่าให้ข้าพเจ้าผิดพลาดด้านบัญญัติทางศาสนา
                แพทย์และนักวิชาการศาสนาอีกกลุ่มหนึ่ง มีทัศนะว่า ไม่ถือว่าก้านสมองตาย เป็นหลักฐานการตายของผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกทางสมอง โดยถือว่ายังมีสิ่งที่แสดงความมีชีวิตปรากฏออกมาอยู่ และอุปกรณ์การแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจเทียมถือว่าเป็นสื่อของการบำบัดรักษาผู้ป่วย การที่แพทย์กีดกันไม่ให้ผู้ป่วยได้รับสื่อของการรักษาพยาบาล จึงถือว่าเป็นผู้ก่ออาชญากรรมสังหารผู้ป่วยโดย  เจตนา  ความตายตามบัญญัติศาสนาจะยังไม่เกิดขึ้นจริงจนกว่าวิญญาณจะออกจากร่างไปแล้วและสิ่งที่จะตามมาคืออวัยวะต่างๆ ในร่างกายหยุดทำงาน และสิ่งที่แสดงออกว่ามีชีวิตได้ยุติลงแล้ว
                ดร.มุฮัมมัด ซัยยิด ตอนตอวีย์  ผู้นำมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ได้ออกคำฟัตวาเหมือนๆ กันนี้       โดยกล่าวว่า การตายที่เกิดจากสมองตายยังไม่ถือเป็นการตายอย่างสมบูรณ์ จำเป็นต้องปรากฏเครื่องหมายความตายอื่นๆ และได้กล่าวเพิ่มเติมว่าไม่มีความตายที่เรียกว่า ฆ่าด้วยความกรุณาหรือการุณยฆาต (merci killing )
      เขากล่าวว่า แพทย์จะต้องใช้ความสามารถอย่างเต็มที่เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย ไม่ว่าความหวังจากการหายป่วยจะมีน้อยเพียงไร เพราะชีวิตมนุษย์เป็นของฝากจากพระเจ้า ที่จำเป็นต้องปกป้องรักษา บัญญัติของอิสลามได้ห้ามการฆ่าตัวตาย ดังอัลเลาะห์ตะอาลา ตรัสว่า :
                “และพวกเจ้าอย่าสังหารตนเอง  แท้จริงอัลเลาะห์ทรงเมตตายิ่งต่อพวกเจ้าทั้งหลาย และผู้ใดได้กระทำการดังกล่าวโดยเป็นปรปักษ์และโดยทุจริต  ต่อไปเราจะนำเขาเข้าสู่ขุมนรก และการดังกล่าว นั้นเป็นเรื่องง่ายสำหรับ อัลเลาะห์” (อันนิซาอ์  29-30)
                บัญญัติของศาสนาใช้ให้แพทย์ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยในการรักษา ผลลัพธ์หลังจากนั้นขึ้นอยู่กับอัลเลาะห์ เพราะแพทย์ไม่สามารถยืดชีวิตผู้ป่วยออกไปได้ เนื่องจากเมื่อกำหนดความตายของพวกเขามาถึง  พวกเขาจะประวิงเวลาออกไปไม่ได้ และจะร่นเวลาให้เร็วขึ้นมาก็ไม่ได้อีกเช่นเดียวกัน และ เชค ตอนตอวีย์ ยืนยันว่าแม้ผู้ป่วยจะขอร้องแพทย์ให้ทำชีวิตตนสิ้นสุดลง แพทย์ก็จะตอบรับคำขอของผู้ป่วยเช่นนั้นไม่ได้  ดังมีฮะดีษตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า :
               “ไม่มีการก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นและไม่มีภัยอันตรายแก่ตนเอง” รายงานโดยอิบนุมาญะห์
      สำหรับ ผู้ตัวข้าพเจ้าผู้ทบทวนเอกสารมีทัศนะว่า ความตายคือการสิ้นสุดของชีวิต และความตายตามบัญญัติศาสนาจะยังไม่เกิดขึ้นจริง จนกว่าวิญญาณจะออกจากร่างไปแล้ว และสิ่งที่จะเกิดตามมาก็คืออวัยวะต่างๆ ในร่างกายหยุดทำงาน และสิ่งที่แสดงออกว่ามีชีวิตได้ยุติลงแล้ว
                ส่วนอาการสมองตายนั้น ผู้ทบทวนมีทัศนะว่า อาการก้านสมองตายได้รับการยอมรับจากทาง การแพทย์และศาสนาแล้วว่า เป็นความตายที่แท้จริง เพียงแต่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนทั่วไปเท่านั้น

การใช้เทคโนโลยีช่วยในการปฏิสนธิ                 ปัจจุบันปัญหาเด็กหลอดแก้วได้กลายเป็นปัญหาที่มีผู้คนให้ความสนใจมากมาย ทั้งที่ก่อนหน้านี้เป็นเพียงแค่เรื่องของการสมมุติขึ้นเท่านั้น นักวิชาการสมัยใหม่ของเรามีความเห็นแตกต่างกัน ในหลายรูปแบบ และมีความเห็นพ้องกันในหลายรูปแบบ
                การใช้เทคโนโลยีช่วยในการปฏิสนธิ มีหลายวิธี  ซึ่งมีทั้งที่ศาสนาอนุญาต และที่ศาสนาห้าม  ดังนี้
                1. นำไข่ของภรรยาไปผสมกับน้ำเชื้อของสามี  แล้วเก็บรักษาไว้ช่วงระยะเวลาหนึ่งในหลอดแก้ว  หลังจากนั้นจึงนำไข่ที่ผสมแล้วนี้ไปใส่ไว้ในมดลูกของภรรยา รูปแบบดังกล่าวนี้ ไม่มีข้อห้ามตามหลักศาสนา  ทารกที่คลอดจากการปฏิบัติการนี้จะสืบตระกูลจากชายผู้เป็นเจ้าของน้ำเชื้อ และหญิงผู้เป็นเจ้าของไข่นั้น
                2. เอาไข่จากภรรยาที่เป็นหมันไปผสมกับน้ำเชื้อของสามี แล้วนำไข่ที่ผสมแล้วไปใส่ในมดลูกของภรรยาอีกคนหนึ่งที่มีมดลูกสมบูรณ์ หลังจากนั้น ตัวอ่อนก็จะเจริญเติบโตอยู่ในมดลูกของนาง   จนคลอด ทารกที่เกิดขึ้นมานี้สืบตระกูลจากสามีของหญิงที่เป็นเจ้าของไข่ ซึ่งเป็นสามีของหญิงคนที่รับตั้งครรภ์ และทารกนั้นจะเป็นบุตรของภรรยาที่รับตั้งครรภ์  ไม่ใช่บุตรของหญิงผู้เป็นเจ้าของไข่  เพราะอัลลาะห์ตะอาลา ได้ตรัสไว้ว่า :
                “ไม่ใช่เป็นมารดาของพวกเขาหรอก นอกจากบรรดาสตรีที่คลอดพวกเขาออกมา”  (อัลมุญาดะละห์ 2)
                และอัลเลาะห์ ตาอาลาได้ตรัสอีกว่า :
                “และเราได้กำชับมนุษย์ให้กตัญญูต่อพ่อแม่โดยที่มารดาของเขา  ได้อุ้มท้องเขาอย่างอ่อนเพลีย แล้วอ่อนเพลียอีก (ลุกมาน 14)   เจ้าของไข่เป็นผู้อุ้มท้องจนอ่อนเพลียแล้ว  อ่อนเพลียอีกอย่างนั้นหรือ? “
                “และเราได้กำชับมนุษย์ให้กตัญญูต่อบิดามารดา โดยที่มารดาของเขาได้อุ้มท้องเขาอย่างยาก ลำบาก และคลอดเขาอย่างยากลำบาก” (อัลอะฮ์กอฟ 15)  แล้วเจ้าของไข่เป็นเช่นนั้นหรือ ?
                ที่กล่าวมานี้เป็นมุมมองทางด้านตัวบท  ส่วนทางด้านความหมายนั้น  ไข่ที่ผสมแล้วเจริญเติบโต และได้รับสารอาหารจากเลือดของผู้ที่รับตั้งครรภ์  แม่เป็นผู้ที่อุ้มครรภ์ และได้รับความเจ็บปวดขณะคลอด  ดังนั้นจึงถือว่า ทารกผู้นี้เป็นบุตรของหญิงที่รับตั้งครรภ์และคลอดเขาออกมา และจะได้รับข้อกำหนดทั้งหมดของบุตรที่เกี่ยวกับแม่ และของแม่ที่เกี่ยวกับบุตรของนาง ทั้งการรับมรดก ค่าเลี้ยงดู และการดูแล  เรื่องอนุมัติและห้ามแต่งงานจะขยายไปถึงบรรพบุรุษ ลูกหลาน และพี่น้องของนาง และข้อกำหนดอื่นๆ
                และที่ยังจะต้องอธิบายต่อไป ก็คือความสัมพันธ์ของหญิงผู้เป็นเจ้าของไข่ เป็นเหมือนกับแม่ ผู้ให้นมดื่ม  ทั้งนี้เพราะสำนักของฮานาฟี ถือว่าเหตุผลที่ทำให้ห้ามแต่งงานในการให้ดื่มนม คือ ความเป็นส่วนหนึ่งหรือเสมือนเป็นส่วนหนึ่ง  ดังนั้นอย่างน้อยที่สุดที่จะกล่าวได้ในเรื่องนี้ ก็คือทารกผู้นี้เป็นส่วนหนึ่งจากหญิงผู้เป็นเจ้าของไข่ ซึ่งเป็นเหตุผลทำให้เกิดภาวการณ์ห้ามแต่งงาน อันเนื่องมาจากการให้ดื่มนม
                3 .ผสมไข่ของผู้หญิงคนหนึ่งกับน้ำเชื้อของผู้ชายที่ไม่ใช่สามีของนาง  แล้วนำกลับเข้าไปไว้ในมดลูกของนาง  รูปแบบนี้เป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดการปะปนในสายตระกูล  ทารกที่เกิดขึ้นมาจะสืบสกุลจากหญิงนั้นเพียงฝ่ายเดียว  เช่นเดียวกับลูกนอกสมรส (ซินา) โดยจะไม่สืบตระกูลจากเจ้าของน้ำเชื้อ เพราะน้ำเชื้อนั้นศาสนาถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่า และศาสนาไม่ให้การยกย่อง

การใช้ประโยชน์จากตัวอ่อน และการทำลายตัวอ่อนที่ผสมแล้ว (stem cells)                     Stem cells  เป็นเซลล์ที่มีความสามารถที่จะแบ่งตัวให้เกิดเป็นเซลล์ที่มีรูปร่างเหมือนเดิม (โคลนนิ่ง) หรือเปลี่ยนแปลงให้เป็นเซลล์ชนิดอื่นก็ได้  จากการวิจัยทางการแพทย์เชื่อกันว่าสามารถใช้  stem cells ไปซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ถูกทำลาย หรือเอาไปใช้สร้างอวัยวะของร่างกายขึ้นมาใหม่ได้ การศึกษาค้นคว้าเรื่อง stem cells เพิ่งเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1960
                Stem cells แบ่งออกเป็นหลายชนิด ตามต้นกำเนิดของมัน  แต่ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างจริงจัง มี 2 ชนิดคือ stem cells จากตัวอ่อน หรือ embryonic stem cells กับ stem cells ที่นำมาจากเลือดจากรกของแม่ หรือจากสายสะดือทารกแรกเกิด (cord blood stem cells) สรุปประเด็นจากเอกสารทางวิชาการที่สืบค้นได้ดังนี้

                การใช้ประโยชน์จากตัวอ่อน                                 ไม่ยินยอมให้ใช้ตัวอ่อนเป็นแหล่งปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่บุคคลอื่น  โดยมีข้อยกเว้นในหลายกรณี  ที่จำต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์โดยครบถ้วนคือ :
                                ก. ไม่ยินยอมให้ทำแท้งเพื่อนำตัวอ่อนมาใช้ปลูกถ่ายอวัยวะให้ผู้อื่น  แต่การแท้งนั้นจะต้องเป็นการแท้งตามธรรมชาติ ไม่ใช่เจตนาทำให้แท้ง และเป็นการแท้งที่มีเหตุผลที่ศาสนายอมรับได้ และจะต้องไม่ใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อเอาตัวอ่อนออกมา  นอกจากในกรณีเพื่อช่วยชีวิตแม่.
                                ข .ถ้าหากตัวอ่อนสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้ต่อไป ก็จำเป็นต้องให้การรักษาพยาบาล เพื่อให้ชีวิตของตัวอ่อนนั้นคงอยู่ และจำเป็นต้องป้องกันรักษาชีวิตไว้ จะนำตัวอ่อนไปใช้ประโยชน์ในการปลูกถ่ายอวัยวะไม่ได้  และเมื่อตัวอ่อนไม่อาจมีชีวิตต่อไปได้  ก็ยังไม่ยินยอมให้นำมาใช้ประโยชน์  เว้นแต่ตัวอ่อนนั้นจะเสียชีวิตแล้ว โดยมีเงื่อนไข
·        ไม่ยินยอมให้นำวิธีการปลูกถ่ายอวัยวะไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าโดยเด็ดขาด
·        ต้องมีคณะกรรมการเฉพาะกิจที่เชื่อถือได้เป็นผู้ดูแลและควบคุมการปลูกถ่ายอวัยวะ.
·        ไม่ยินยอมให้ใช้เซลล์ที่นำมาจากตัวอ่อนของมนุษย์  เพื่อการโคลนนิ่งเพราะอาจทำให้ตัวอ่อนเสียชีวิตได้.
·        การใช้ยีนในการบำบัดรักษา  หรือป้องกันโรค  หรือแก้ไขข้อบกพร่อง  หรือตำหนิ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางรูปร่างตามธรรมชาติ ถือว่าเป็นสิ่งที่อนุญาตให้ทำได้  แต่ถ้าหากนำยีนมาเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพ  หรือรูปร่าง  สีผิว  สูง  เตี้ย ก็เป็นสิ่งต้องห้าม
·        ไม่อนุญาตให้บำบัดรักษายีนที่อยู่ในเซลล์ เพราะไม่อาจรู้ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้ และเพราะอาจเกิดผลลัพธ์ที่ร้ายแรงขึ้น อีกทั้งยังมีผลกระทบทางด้านจริยธรรม  แต่เมื่อวิทยาการก้าวหน้าจนสามารถก้าวไปถึงขั้นที่ป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียหาย และผลกระทบที่เป็นลบที่จะเกิดกับมนุษย์และลูกหลานในยุคหลังได้ ก็ย่อมไม่อาจห้ามการบำบัดรักษาด้วยยีนนี้ ได้ตลอดไปตามหลักศาสนา การห้ามจะพิจารณาจากภัยอันตรายที่เกิดขึ้นจริง  ส่วนการอนุญาตก็จะพิจารณาจากผลประโยชน์ และการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

                การทำลายตัวอ่อน ·        ไม่มีข้อห้ามในเรื่องการทำลายตัวอ่อนที่ยังอยู่ในหลอดแก้ว
·        การนำตัวอ่อนมาจากมารดาที่ตั้งครรภ์ โดยวิธีทำแท้งตัวอ่อนเหล่านั้น ถึงแม้จะนำมาใช้ในการค้นคว้าทางวิชาการก็ตาม  ถือว่าเป็นสิ่งที่ศาสนาไม่อนุญาตให้กระทำ
·        การนำตัวอ่อนที่ได้มาจากธนาคารน้ำเชื้อ  ซึ่งมีอยู่มากมายมาทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ นั้นยังคงเป็นสิ่งที่นักวิชาการด้านศาสนาต้องศึกษาอย่างละเอียด เพื่อหาข้อกำหนดอย่างเหมาะสมว่าเป็นสิ่งที่ศาสนาอนุญาตให้กระทำได้หรือไม่ ในเมื่อตัวอ่อนเหล่านั้นต้องถูกกำจัดอยู่แล้ว
·        ตัวอ่อนที่แท้งโดยธรรมชาติ หรือถูกทำแท้งเพราะมีความจำเป็นเพื่อช่วยชีวิตมารดา ทารกจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลทุกวิถีทางเพื่อให้รอดชีวิต ในกรณีที่ทารกเสียชีวิตและได้รับการยืนยันทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์และทางศาสนา  ยินยอมให้นำอวัยวะบางอย่าง และเนื้อเยื่อของ ตัวอ่อนนั้นไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้อื่นได้  ตามเงื่อนไขทางจริยธรรมที่เกี่ยวกับการผ่าตัดและการปลูกถ่าย
                พร้อมๆ กับความก้าวหน้าทางการแพทย์ ได้เกิดวิชาการทางด้านพันธุวิศวกรรมขึ้น  โดยมีความสามารถในการบำบัดรักษาด้วยยีน (gene) การบำบัดรักษาประเภทนี้จะมีข้อกำหนดทางศาสนา อย่างไร และมีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะเข้าไปแทรกแซงการใช้ยีนเพื่อการรักษาหรือเปลี่ยนแปลงลูกหลานที่จะเกิดขึ้นมาใหม่

                การบำบัดรักษาด้วยยีน
เป็นวิชาการที่เกิดขึ้นใหม่  และนักนิติศาสตร์อิสลามยินยอมให้นำมา ใช้ได้ ตามเจตนารมณ์ของศาสนา  ทั้งนี้โดยมีหลักเกณฑ์ที่ถูกกำหนดที่สำคัญก็คือ ใช้ยีนเพื่อการบำบัดรักษาเท่านั้น  จะต้องไม่นำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่ชั่วร้าย  และไม่ยินยอมให้นำไปใช้ในทางที่ทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และอาจนำไปใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะได้  ถ้าเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์แก่มนุษย์  แต่จะต้องไม่ให้เกิดอันตรายใดๆ ทั้งไม่ยินยอมให้การบำบัดรักษาด้วยยีน ที่จะเกิดผลตกกระทบถึงเด็กและลูกหลานในอนาคต.
                ข้อกำหนดของการรักษาด้วยยีน :                การรักษาด้วยยีน เป็นสิ่งที่ศาสนาอนุญาตให้กระทำได้ เมื่อไม่เกิดอันตรายและผลเสียหาย    ในการประชุมครั้งที่สิบห้าของ  สภานิติศาสตร์ของรอบิเตาะห์ อัลอาลัม อัลอิสลามีย์  ที่จัดขึ้นที่นครมักกะห์  เมื่อวันที่ 11 เดือนรอยับ ปี ฮ.ศ. 1419  ตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1998 .
                ได้มีการพิจารณาหัวข้อเรื่องที่มุสลิมสามารถเอาประโยชน์ได้จากวิชาพันธุวิศวกรรมได้อย่างไร ซึ่งสภานิติศาสน์อิสลามได้มีมติดังต่อไปนี้.
·        การนำความรู้ทางพันธุวิศวกรรมมาใช้ในการป้องกันโรค หรือรักษาโรค หรือทำให้ภัยอันตรายเบาบางลง  สามารถทำได้โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่ให้เกิดภัยอันตรายใหญ่หลวงกว่า·        'ไม่อนุญาตให้ใช้ความรู้ทางด้านพันธุวิศวกรรมและประโยชน์ต่างๆ ของมันไปในวัตถุประสงค์ที่ชั่วร้าย  และในสิ่งต้องห้ามตามบัญญัติศาสนา
·        ไม่ยินยอมให้นำความรู้ทางด้านพันธุวิศวกรรม และประโยชน์ต่างๆ ของมันไปใช้ในทางที่ทำให้เสื่อมเสียบุคลิกภาพของมนุษย์ และความรับผิดชอบส่วนตน หรือเข้าไปแทรกแซงในโครงสร้างของกรรมพันธุ์ (ยีนต่าง ๆ)  โดยอาศัยข้ออ้างว่าเป็นการปรับปรุงเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้ดีขึ้น
·        ไม่ยินยอมให้ดำเนินการค้นคว้าใดๆ หรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง  หรือตรวจร่างกาย ที่เกี่ยวกับกรรมพันธุ์ของมนุษย์คนใดคนหนึ่ง  นอกจากมีการประเมินอย่างละเอียดแล้ว และได้แจ้งให้ทราบถึงภัยอันตราย และผลประโยชน์ที่อาจเกี่ยวพันกับการดำเนินการดังกล่าวกับบุคคลผู้นั้น    และได้รับอนุมัติอย่างถูกต้องตามหลักศาสนา  พร้อมทั้งต้องเก็บผลการดำเนินงานไว้เป็นความลับอย่างเต็มที่  อีกทั้งต้องรักษาข้อกำหนดของบทบัญญัติอิสลาม ที่ยกย่องและให้เกียรติแก่สิทธิ์และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
·        ยินยอมให้ใช้ความรู้ทางด้านพันธุวิศวกรรมและขอบเขตต่างๆ ของมันในการทำเกษตร และ เลี้ยงสัตว์  โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องหาทางป้องกันทุกวิถีทางไม่ให้เกิดอันตรายใดๆ แม้ในระยะไกลก็ตาม ทั้งต่อมนุษย์ ต่อสัตว์ และสิ่งแวดล้อม.
·        ทางสภานิติศาสตร์อิสลาม เรียกร้องให้บริษัท และโรงงานผู้ผลิตอาหาร และยา และอื่นๆ ที่ใช้ความรู้จากวิชาพันธุวิศวกรรม  ให้ชี้แจงถึงส่วนประกอบของวัสดุเหล่านั้นเพื่อผู้บริโภคจะนำไปใช้และปฏิบัติได้อย่างรู้จริงและเพื่อให้เกิดความระมัดระวังจากสิ่งที่เป็นภัย หรือสิ่งต้องห้ามทางศาสนา ·        สภานิติศาสตร์อิสลามกำชับถึงบรรดานายแพทย์ และห้องทดลองต่างๆ ให้มีความยำเกรงพระเจ้า  และมีสำนึกอยู่เสมอว่าพระเจ้าทรงรู้   พระเจ้าทรงเห็น  และจะต้องออกห่างจากการทำให้เกิดภัยอันตรายต่อบุคคล  ต่อสังคม  และสิ่งแวดล้อม.

                ข้อกำหนด ในการเปลี่ยนแปลงการสร้าง โดยวิธีการใช้ยีนรักษานั้น นักนิติศาสตร์อิสลามทั้งยุคเก่าและยุคใหม่ ได้พิจารณาเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง หรือเปลี่ยนแปลงการสร้างของอัลเลาะห์ในเรื่องการผ่าตัดเสริมสวย การขจัดรอยตำหนิหรือข้อบกพร่องทางร่างกาย  ที่ทำให้เกิดความทุกข์  ทั้งร่างกายและจิตใจ  และได้มีมติจากที่การประชุมครั้งที่สามขององค์การอิสลามเพื่อวิทยาการทาง การแพทย์โดย ได้ระบุไว้ดังนี้ :
·        การผ่าตัดที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาความผิดปกติทางร่างกายและอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น หรือ    ภายหลังการคลอด  เพื่อทำให้อวัยวะกลับคืนสู่สภาพปกติที่เคยเป็น  เป็นสิ่งที่ศาสนาอนุญาตให้กระทำได้ และส่วนใหญ่มีความเห็นว่าให้นำข้อกำหนดของการรักษานี้ มาพิจารณาในการแก้ไข ตำหนิ หรือความความผิดปกติของร่างกายที่ทำให้บุคคลนั้นได้รับผลกระทบทางร่างกายหรือจิตใจด้วย
·        ไม่ยินยอมให้ทำการผ่าตัดที่ทำให้ร่างกาย และอวัยวะผิดไปจากโครงสร้างที่ดีอยู่แล้ว หรือมีเจตนาหลบหนีคดี  หรือหลอกลวง  หรือเพียงเพื่อทำตามอารมณ์
·        การผ่าตัดเพื่อแปลงเพศตามอารมณ์ที่เบี่ยงเบนเป็นสิ่งที่ต้องห้าม (ฮะรอม)  และยินยอมให้ทำการผ่าตัดเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงของเพศ  เท่านั้น
·        การบำบัดรักษาด้วยยีนมีเป้าหมายอยู่ที่การรักษายีนที่เป็นโรคและพิการ เพื่อทำให้กลับคืน สู่สภาพเดิม หรือสามารถทำหน้าที่ของอวัยวะที่สมบูรณ์ดังเป็นที่ทราบกันดี เป็นสิ่งที่ศาสนาอนุญาตให้กระทำได้ เช่นเดียวกับการบำบัดรักษาด้วยยีนที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขตำหนิหรือความขี้เหร่ที่ทำให้บุคคลได้รับความกระทบกระเทือน ทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ.
·        ไม่อนุญาตให้บำบัดรักษาด้วยยีนที่มีเป้าหมายทำให้ร่างกาย  หรืออวัยวะผิดไปจากการสร้างที่สมบูรณ์
·        ไม่ยินยอมให้เปลี่ยนแปลงเพศ หรือ สีผิว  รูปร่าง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของอัลเลาะห์ตาอาลา ที่มีวิทยปัญญาและความสมดุลและกฎระเบียบของพระเจ้า
           
ประเด็นเรื่อง การเปลี่ยนแปลงการสร้างของอัลเลาะห์นั้น อัลเลาะห์ตาอาลาได้บรรยายไว้ใน     อัลกุรอานว่า เป็นการงานของมารร้าย และสมุนของมัน  พระองค์ได้ตรัสว่า :
               “พวกเขาจะไม่วิงวอนขออื่นจากพระองค์อัลเลาะห์  นอกจากรูปเคารพที่เป็นหญิง และพวกเขา จะไม่วิงวอน  นอกจากชัยตอนที่ดื้อรั้นเท่านั้น อัลเลาะห์ได้สาปแช่งมันแล้ว  และพวกมันจะกล่าวว่า ข้าจะเอาปวงบ่าวของท่านตามส่วนที่ถูกกำหนดไว้ และแท้จริงข้าจะต้องทำให้พวกเขาหลงผิด  และข้าจะต้องทำให้มันเพ้อฝัน  และข้าจะต้องใช้พวกเขา (ด้วยการเสี้ยมสอน)  ดังนั้นพวกเขาจะผ่าหูปศุสัตว์  และข้าจะต้องใช้พวกเขา ดังนั้นพวกเขาก็จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อัลเลาะห์ทรงสร้าง”  (อันนิ ซาอ์ : 117-119)
                เช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ตรัสว่า :
               “ดังนั้นเจ้าจงผินหน้าของเจ้าสู่ศาสนาที่เที่ยงแท้ เป็นธรรมชาติของอัลเลาะห์ ที่พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมา ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในการทรงสร้างของอัลเลาะห์  นั่นคือศาสนาที่เที่ยงตรง  แต่มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่รู้ ” (อัรรูม : 30)

จริยธรรมด้านการศึกษาวิจัยทางการแพทย์และชีววิทยา                คณะกรรมการศึกษาและวัฒนธรรมแห่งชาติอียิปต์ ได้จัดเตรียมสารที่ครอบคลุมระเบียบและกฎเกณฑ์ทางจริยธรรมและได้รับการยอมรับจากศูนย์กลางค้นคว้าวิจัยศาสนาอิสลามของมหาวิทยาลัยอัลอัชห์ มีความโดยสรุปดังนี้ :
                คนที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น อนุญาตให้บริจาคอวัยวะของตนแก่ผู้อื่นได้โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้บริจาคมีคุณสมบัติครบถ้วน และมีหนังสือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าตนให้คำยินยอมโดยสมัครใจ และหนังสือดังกล่าวเป็นสิทธิ์ของผู้บริจาคที่จะยกเลิกการบริจาคอวัยวะเมื่อใดก็ได้ตามที่เขาต้องการ  จนถึงนาทีนำเขาเข้าสู่ห้องผ่าตัด และไม่ยินยอมให้ย้ายอวัยวะของผู้ที่หมดความรู้สึก ที่เขายังไม่บรรลุศาสนภาวะ  แม้ผู้ปกครองจะยินยอมก็ตาม   ส่วนจริยธรรมสำหรับเทคนิคการย้ายยีนสืบพันธุ์ของมนุษย์  สารดังกล่าวได้อธิบายว่า ไม่ยินยอมให้ย้ายยีนสืบพันธุ์ ยกเว้นในกรณีที่สามีหรือภรรยาเป็นหมัน และไม่ยินยอมให้มีการผสมเทียมภายนอกร่างกายของสตรี  ยกเว้นในกรณีที่ใช้เชื้อสเปิร์มของสามี ขณะที่คนทั้งสองมีสถานะเป็นสามีและภรรยากันตามหลักศาสนา
                ในกรณีที่เกี่ยวกับการตัดอวัยวะและเนื้อเยื่อจากตัวอ่อนมนุษย์นั้น  สารดังกล่าวยืนยันว่าไม่ยินยอมให้เจตนาทำแท้ง  เพื่อนำทารกไปใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่ผู้อื่น ส่วนการแท้งตามธรรมชาติที่ไม่มีเจตนา หรือการทำแท้งเพราะมีความจำเป็นบีบบังคับเพื่อช่วยชีวิตมารดา  ทารกจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลทุกวิถีทางเพื่อให้รอดชีวิต  ในกรณีที่ทารกเสียชีวิต ที่ได้รับการยืนยันทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์  ศาสนายินยอมให้นำอวัยวะบางอย่าง และเนื้อเยื่อของทารกนั้นไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้อื่นได้  ตามเงื่อนไขทางจริยธรรมที่เกี่ยวกับการผ่าตัดและการปลูกถ่าย
                ก .ไม่ยินยอมให้ทำแท้งเพื่อนำตัวอ่อนมาใช้ปลูกถ่ายอวัยวะให้ผู้อื่น  แต่การแท้งนั้นจะต้องเป็นการแท้งตามธรรมชาติ  ไม่ใช่เจตนาทำให้แท้ง  และเป็นการแท้งที่มีเหตุผลที่ศาสนายอมรับได้   และจะต้องไม่ใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อเอาตัวอ่อนออกมา  นอกจากในกรณีเพื่อช่วยชีวิตแม่.
                ข. การใช้ยีนในการบำบัดรักษา หรือป้องกันโรค หรือแก้ไขข้อบกพร่อง หรือตำหนิ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางรูปร่างตามธรรมชาติ ถือว่าเป็นสิ่งที่อนุญาตให้ทำได้ แต่ถ้าหากนำยีนมาเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพ  หรือรูปร่าง สีผิว สูง เตี้ย ก็เป็นสิ่งต้องห้าม
                ค. ไม่อนุญาตให้บำบัดรักษายีนที่อยู่ในเซลล์ เพราะไม่อาจรู้ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้ และเพราะอาจเกิดผลลัพธ์ที่ร้ายแรงขึ้น  อีกทั้งยังมีผลกระทบทางด้านจริยธรรม  แต่เมื่อวิทยาการก้าวหน้าจนสามารถก้าวไปถึงขั้นที่ป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียหาย  และผลกระทบที่เป็นลบที่จะเกิดกับมนุษย์และ  ลูกหลานในยุคหลังได้ ก็ย่อมไม่อาจห้ามการบำบัดรักษาด้วยยีนนี้ได้ตลอดไป  ตามหลักศาสนา การห้ามจะพิจารณาจากภัยอันตรายที่เกิดขึ้นจริง  ส่วนการอนุญาต ก็จะพิจารณาจากผลประโยชน์และการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น.

การปรับปรุงพันธุ์มนุษย์ - การเลือกเพศ ·        การเลือกเพศของทารก การกำหนดเพศของทารก  ไม่ขัดกับหลักศรัทธาที่บริสุทธิ์ของมุสลิม ·        การกำหนดเพศทารก ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงการสร้างของอัลเลาะห์ตาอาลา แต่อย่างใด เพราะอัลเลาะห์เป็นผู้สร้างเชื้อสเปิร์ม และไข่  มนุษย์เป็นแต่เพียงนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาผสมกัน
·        การกำหนดเพศทารก  ถ้าหากมีการนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง จะนำไปสู่ความเสียหายที่มนุษย์อาจก่อขึ้นจากความไร้ระบบและทำให้เกิดเสียสมดุลระหว่างเพศชายกับเพศหญิง  ส่วนกรณีที่นำไปปฏิบัติเฉพาะรายและก่อนการตั้งครรภ์ก็ไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด.
·        การกำหนดเพศของทารก ไม่ขัดกับหลักศรัทธาที่บริสุทธิ์ของมุสลิม  เพราะมุสลิมศรัทธาว่า  สิ่งใดในจักรวาลจะเกิดขึ้นไม่ได้นอกจากเกิดขึ้นตามพระประสงค์ของอัลเลาะห์ตาอาลา  การค้นพบทางด้านวิทยาการสมัยใหม่ จะทำให้ความต้องการบางอย่างของมนุษย์เป็นความจริง  แต่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกรอบของศาสนาในเรื่องนี้
                การกำหนดเพศ เมื่อปราศจากเป้าหมายที่เสียหายหรือชั่วร้าย  มันก็จะเป็นเรื่องของการกระทำสิ่งที่เป็นต้นเหตุ และเป็นเรื่องการบำบัดรักษาที่เกิดขึ้นก่อนการตั้งครรภ์ เช่น การกำหนดเวลา การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา การรับยาที่แน่นอน และความจริงอิสลามก็ได้อนุญาตการหลั่งภายนอก ซึ่งก็ถือว่าเป็นการกำหนดเองด้วยอย่างหนึ่ง และอีกแง่หนึ่งอิสลามอนุญาตมุสลิมวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้า ให้ประทานบุตรแก่เขาเป็นเพศชายหรือเพศหญิง ศาสดาของอัลเลาะห์ ซาการียา ได้อ้อนวอนต่อพระเจ้าขอให้ได้บุตรชาย โดยเขากล่าวว่า
                “ได้โปรดให้ฉันได้รับจากท่านเป็นบุตรชายที่จะรับมรดกจากฉัน”  (มัรยัม 5)
                ดังนั้น  จึงไม่มีข้อห้ามที่จะมีความปรารถนาและวิงวอนเช่นนั้น  และเป็นบัญญัติที่ชัดเจนแล้วว่า  สิ่งใดที่ห้ามกระทำก็จะห้ามวิงวอนขอ  และเงื่อนไขของการวิงวอนมีว่า จะต้องไม่วิงวอนขอสิ่งต้องห้าม และอีกด้านก็คือเป็นที่แน่นอนว่า การกำหนดเองนั้นไม่ขัดกับเจตนาของอัลเลาะห์ เพราะสิ่งที่อัลเลาะห์เจตนานั้น  มนุษย์จะไม่สามารถรู้ได้นอกจากมันได้เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น และเจตนาของอัลเลาะห์จะบรรลุตามที่พระองค์ประสงค์ ไม่มีผู้ใดขัดขวางกิจการของพระองค์ได้  และนี่คือเจตนารมณ์ของหลักศรัทธาที่ถูกต้อง ในประเด็นเรื่องกำหนดสภาวการณ์ของอัลเลาะห์ ความรู้ในสิ่งที่ถูกกำหนดเป็นความรู้ล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่อัลเลาะห์เท่านั้นทรงรู้ สิ่งที่อัลเลาะห์กำหนดไว้จะไม่แตกต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้น  และความจริงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้นก็คือ สิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้ว โดยไม่มีผู้ใดทราบ กฎทางพันธุกรรมก็คือระบบและสาเหตุต่างๆ ที่อัลเลาะห์สร้างไว้ในจักรวาลและยกมันขึ้นเมื่อใดที่พระองค์ทรงเจตนาให้เป็นไปตามนั้น.
                 บางคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าการกำหนดเพศทารกเองนั้น ขัดกับคำดำรัสของอัลเลาะห์ตาอาลาที่ว่า
               “พระองค์จะประทานบุตรให้แก่ผู้ที่พระองค์ประสงค์ เป็นเพศหญิง  และจะประทานบุตรให้แก่ผู้ที่พระองค์ประสงค์ เป็นเพศชาย  หรือจะประทานเป็นคู่ให้แก่พวกเขาทั้งเพศชายและเพศหญิง และจะดลบันดาลผู้ที่พระองค์ประสงค์ให้เป็นหมัน ” (อัชชูรอ : 49)
                และสอดคล้องกับการอธิบายที่กล่าวมาแล้วว่า มุสลิมมีศรัทธาว่าเจตนาและความประสงค์ของอัลเลาะห์เท่านั้นที่จะบรรลุผล  ไม่ได้ขัดแย้งกับอายะห์อัลกุรอานแต่อย่างใด  ดังนั้นศาสนาจึงอนุญาต ให้ผู้หญิงหรือผู้ชายไปหาแพทย์  เพื่อรักษาอาการเป็นหมัน  เพื่อเป็นการสร้างเหตุของการมีบุตร
                อีกด้านหนึ่ง การกระทำดังกล่าวที่กระทำเป็นรายบุคคลนั้น ไม่มีปัญหาอะไร เช่นเดียวกับการหลั่งภายนอก หรือการวางแผนครอบครัวจึงเป็นสิ่งที่อนุญาตกระทำได้ในกรณีที่เป็นรายบุคคล  แต่จะไม่ยินยอมให้นำมาใช้ทั่วไปโดยออกเป็นกฎหมาย  ในการประชุมเรื่อง การให้กำเนิดในกรอบของศาสนาอิสลาม  ได้มีการประกาศปฏิญญา ถึงเรื่องการกำหนดเพศทารกไว้ดังนี้ :
                สำหรับทฤษฎีทางศาสนาเห็นว่า ไม่อนุญาตกำหนดเพศทารก ถ้าหากเป็นการกระทำกันทั่วไป (ในระดับประชาชาติ)  ส่วนการกระทำเป็นรายบุคคลนั้น  ความพยายามที่จะทำให้ทารกเป็นเพศชายหรือเพศหญิง โดยใช้วิธีทางการแพทย์ที่สามารถทำได้ ไม่มีข้อห้ามตามบัญญัติศาสนา  สำหรับนักนิติศาสตร์บางท่าน ที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้มีความเห็นว่าไม่อนุญาตให้กระทำ  เพราะกลัวว่าจะเกิดการเหลื่อมล้ำระหว่างเพศหนึ่งอีกเพศหนึ่งอย่างมากมาย  สำหรับเราเห็นว่าการกำหนดและเลือกเพศทารกในตัวมันเอง เป็นเรื่องของการแพทย์ที่ไม่มีข้อห้ามนอกจากมันจะนำไปสู่สิ่งที่ศาสนาห้าม   การกำหนดเพศทารกถ้าหากมีการนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง ก็จะนำไปสู่ความเสียหายที่มนุษย์อาจก่อขึ้นมาจากความไร้ระบบ และทำให้เกิดเสียสมดุลระหว่างเพศชายกับเพศหญิง ส่วนกรณีที่นำไปปฏิบัติเฉพาะรายและก่อนการตั้งครรภ์ก็ไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด…อัลเลาะห์ทรงรอบรู้
                สำหรับคำถามที่ว่า  ถ้าหากมีการขัดแย้งกันระหว่างวิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบัน กับเพศ ของทารกชายหรือหญิง กับคำดำรัสของอัลเลาะห์ตาอาลาที่ว่า  “ และพระองค์ทรงรู้สิ่งที่อยู่ในมดลูก” (ลุกมาน 34)  ก็สามารถที่จะตอบได้ว่า  ไม่มีอะไรขัดกันเลย ระหว่างวิทยาการทางการแพทย์ในเรื่องเพศทารกกับความรู้ของอัลเลาะห์ผู้ทรงยิ่งใหญ่และเกรียงไกร และที่เหมือนกับอายะห์นี้ก็คือ คำดำรัส ของพระองค์ที่ว่า
                “ อัลเลาะห์ทรงรู้สิ่งที่ผู้หญิงทุกคนตั้งครรภ์ และที่บรรดามดลูกคลอดก่อนกำหนด และที่เกินกำหนด  และทุกๆ สิ่ง  ณ พระองค์นั้นถูกกำหนดไว้แล้ว (8)  พระองค์ทรงรอบรู้สิ่งที่เร้นลับ  และเปิดเผยพระองค์ทรงยิ่งใหญ่และทรงสูงส่งยิ่ง” (อัรเราะอ์ดุ 8-9)
                ความรู้ของอัลเลาะห์ตาอาลา มิได้ถูกจำกัดอยู่แต่เพียงภายในมดลูกว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิงเท่านั้น  แต่ความรู้ของพระองค์ครอบคลุมทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่ในมดลูก พระองค์ทรงทราบว่าทารกผู้นี้จะมีชีวิตอยู่หรือจะต้องตาย? จะเป็นคนดีหรือเป็นคนเลว...เป็นต้น  ส่วนความรู้ของมนุษย์จำกัดอยู่แต่เพียงรู้ว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิงเท่านั้น  และความรู้นั้นก็เป็นไปตามเจตนา  และประสงค์ของอัลเลาะห์ผู้ทรงยิ่งใหญ่และเกรียงไกร พระองค์เป็นผู้มอบความสามารถให้แก่มนุษย์ ในการก้าวเข้าไปเรียนรู้สิ่งดังกล่าว
              “พวกเจ้าจะประสงค์สิ่งใดไม่ได้นอกจากที่พระองค์ทรงประสงค์เท่านั้น” (อัลอินซาน : 30)

การทำซ้ำ (โคลนนิ่ง)                วันที่ 23 กุมภาพันธ์  ค.ศ. 1997  นักวิทยาศาสตร์พันธุวิศวกรรมชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่ง โดยการ นำของ ดร.เอียน วิลมุต  จากสถาบันรอสลีนทางภาคใต้ของสก็อตแลนด์  ได้สร้างความตื่นตระหนกให้เกิดขึ้นกับชาวโลก ด้วยการประกาศว่าพวกเขาประสบผลสำเร็จในการทดลองทำโคลนนิ่ง  ทำให้เกิดแกะดอลลี่ขึ้นมา ด้วยการเอาเซลล์จากเต้านมของแกะตัวหนึ่งที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว  และนำไปเพาะเลี้ยงในห้องทดลองเป็นเวลาหกวัน  หลังจากนั้น ได้นำเอาไข่ที่ยังไม่ได้ผสมมาจากแกะอีกตัวหนึ่งที่ได้ถอดเอานิวเคลียสและสารพันธุกรรมของมันออกไป และใส่นิวเคลียสของยีนที่เอามาจากเต้านมของแกะตัวแรกใส่ลงไปแทน  และกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า  เพื่อให้นิวเคลียสรวมเป็นเนื้อเดียวกันในไข่ของแกะตัวที่สอง ที่ปราศจากนิวเคลียส  หลังจากนั้นได้นำตัวอ่อนที่เกิดจากการรวมตัวกันนี้ไปใส่ในแกะตัวที่สาม และเมื่อครบกำหนดตั้งครรภ์ แกะตัวนั้นก็ได้ให้กำเนิดลูกแกะให้ชื่อว่า ดอลลี่  ซึ่งมีรูปร่างและลักษณะเป็นพิมพ์เดียวกับแกะต้นกำเนิดตัวแรก และได้กลายเป็นแกะที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์
                นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ได้มีการพูดถึงและโต้เถียงกันอย่างไม่รู้จบเกี่ยวกับการทำโคลนนิ่งทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมาย ภายหลังจากยุติความเชื่อที่ว่า  สตรีไม่อาจตั้งครรภ์ได้นอกจากด้วยวิธีการ ผสมไข่ของเพศหญิงกับสเปิร์มของเพศชาย และได้กลายเป็นเรื่องง่ายดายไปแล้วที่ไม่ต้องอาศัยสเปิร์มของฝ่ายชาย  โดยเปลี่ยนเป็นเอาเซลล์จากสัตว์ใดก็ได้นำมาสร้างตัวใหม่ขึ้นมา
                นับตั้งแต่ได้มีการประกาศเรื่อง การโคลนนิ่ง  ท่าทีทางด้านศาสนา จริยธรรม และกฎหมาย  มีการตอบรับเหมือนกันทั่วทั้งโลก คือถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามและเป็นอาชญากรรม ที่จะใช้การโคลนนิ่ง กับมนุษย์  ทั้งที่ยอมให้ใช้ประโยชน์เทคนิคโคลนนิ่งกับพืชและสัตว์ ได้
                สถาบันต่างๆ ทางด้านศาสนาและศูนย์นิติศาสตร์อิสลามทุกแห่ง ได้ให้คำตอบทางศาสนา    (ฟัตวา) ว่าห้ามเด็ดขาดสำหรับการโคลนนิ่งมนุษย์  จนถึงขนาดที่ศูนย์การค้นคว้าทางด้านอิสลาม  ได้กำชับให้ใช้การลงโทษ ถึงขั้นสู้รบกับพวกที่นำเทคนิคการโคลนนิ่งมาใช้กับมนุษย์ และคำตอบนี้เกือบเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันในโลกอิสลาม  ในโลกของชาวคริสต์ทั้งฝ่ายคาทอลิก และออโธดอกซ์ก็มีคำตอบที่คล้ายคลึงกัน  และมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน
                แต่สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ก็คือ การศึกษาทางด้านศาสนาอย่างเจาะลึกของนักการศึกษาของ มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร  ที่ได้เปิดประตูเข้ามาพูดจากันถึงกรณีต่างๆ อย่างเจาะจง ซึ่งจะทำให้การโคลนนิ่งมนุษย์เป็นสิ่งที่ศาสนาอนุญาตให้กระทำได้ จากมุมมองทางด้านศาสนา เมื่อมีสภาพและหลัก ประกันครบถ้วน
                ในการประชุมนักนิติศาสตร์อิสลาม  ซึ่งจัดโดยอาจารย์เราะอ์ฟัต อุสมาน อาจารย์วิชานิติศาสตร์ เปรียบเทียบ คณะนิติศาสตร์และกฎหมาย มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร เรื่อง การทำโคลนนิ่งภายใต้หลักเกณฑ์ทางด้านศาสนา  ซึ่งเขาได้นำเสนอในที่ประชุมสภาสูงด้านวัฒนธรรมของอียิปต์ ที่จัดประชุมในหัวข้อ กฎหมายและความก้าวหน้าของชีววิทยา ได้มีผู้นำเสนอบทวิจัยมากมาย ด้านนิติศาสตร์อิสลาม ที่เกี่ยวกับความก้าวหน้าทางชีววิทยาและส่วนหนึ่งของความก้าวหน้านั้น ก็คือการทำโคลนนิ่ง
                ดร. เราะอ์ฟัต อุสมาน  ได้ยืนยันผลงานการวิจัยของเขา ที่ได้นำเสนอวิชาการรอบด้านและเพียงพอเรื่องการโคลนนิ่ง  ในงานวิจัยของเขาจะพบว่า  มีมากกว่าหนึ่งกรณีสำหรับการโคลนนิ่งมนุษย์ ที่จำเป็นต้องมีการแยกแยะเป็นแต่ละกรณีไป  คือจะไม่ใช้ข้อชี้ขาดทางศาสนาเพียงข้อเดียวในทุกๆ    กรณี และเขายังได้ขยายความว่าการโคลนนิ่งมนุษย์ มีถึงหกรูปแบบด้วยกัน  มีสี่รูปแบบที่สามารถให้ข้อชี้ขาดทางศาสนาได้ว่า เป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) โดยเด็ดขาด  ในขณะที่ยังเหลืออยู่อีกสองรูปแบบที่เขาเห็นว่า ควรระงับการออกข้อชี้ขาดไว้ก่อน คือจะยังไม่ชี้ขาดลงไปว่าเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) หรือเป็นสิ่งอนุมัติ (ฮะลาล) ให้กระทำได้  จนกว่าจะรู้ผลลัพธ์  ที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาว่าเป็นสิ่งต้องห้ามหรือเป็นสิ่งที่อนุมัติให้กระทำ
           
                รูปแบบที่หนึ่ง : คือการโคลนนิ่งด้วยวิธีเอานิวเคลียสของเซลล์จากผู้หญิงคนหนึ่ง  แล้วใส่ลงไป ในไข่ของผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่ถอดนิวเคลียสออกไปแล้ว  และในขั้นสุดท้ายก็จะนำไปเพาะเลี้ยงในมดลูก กรณีเช่นนี้ในเป็นทำโคลนนิ่งมนุษย์ เขาวินิจฉัยว่าเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ทางด้านนิติศาสตร์  และรากฐานนิติศาสตร์หลายหลักเกณฑ์
                หลักเกณฑ์ที่หนึ่ง คือหลักอนุมาน (กิยาส) ที่ว่าด้วยห้ามหาความสุขทางเพศ โดยเพศเดียวกัน (เลสเบี้ยนในหมู่ผู้หญิง และร่วมทางทวารหนักในหมู่ผู้ชาย) ดังนั้นถ้าหากเป็นการหาความสุขทางเพศโดยเพศเดียวกันเป็นสิ่งต้องห้าม  การทำให้เกิดทารกขึ้นก็ยิ่งต้องสมควรเป็นสิ่งต้องห้ามมากกว่า
                อีกหลักเกณฑ์หนึ่งก็คือ เป็นการเปิดช่องทางไปสู่ความเสียหาย  เพราะถ้าหากการทำโคลนนิ่งรูปแบบนี้แพร่หลายไปในหมู่สตรี  ก็จะนำไปสู่การขยายวงของความตกต่ำให้กว้างออกไป  จึงมีการห้ามเพื่อเป็นการป้องกันผลเสียหายทางด้านจิตใจ  และสังคมที่จะเกิดขึ้นกับทารกที่คลอดออกมา
                รูปแบบที่สอง : คือการเอานิวเคลียสจากเซลล์ของผู้หญิงคนหนึ่ง  แล้วนำไปใส่ในไข่ของผู้หญิง คนนั้นเอง  ก็ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามเช่น เดียวกับรูปแบบที่หนึ่ง หลักฐานที่บ่งชี้ว่าเป็นสิ่งต้องห้ามก็ใช้หลักฐานเดียวกัน.
                รูปแบบที่สาม : คือการเอานิวเคลียสจากเซลล์สเปิร์มของเพศชาย  ใส่ลงไปในไข่ของผู้หญิง   ข้อชี้ขาดทางศาสนาในรูปแบบนี้ก็คือเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาด  เพราะเป็นการกระทำที่ไร้สาระ  และเบี่ยงเบนการสร้างของอัลเลาะห์  เพราะจะทำให้เกิดเป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่ขึ้นมา
                รูปแบบที่สี่ : คือการเอานิวเคลียสจากเซลล์สเปิร์มของเพศชาย แต่ไม่ใช่เป็นสามีของสตรีที่เป็นเจ้าของไข่  ข้อชี้ขาดทางศาสนาในรูปแบบนี้ก็คือเป็นสิ่งต้องห้ามอีกเช่นเดียวกัน  เพราะอยู่ในความหมายของการละเมิดประเวณี (ซินา) ถึงแม้จะไม่ใช่เป็นการละเมิดประเวณี (ซินา) จริงๆ ก็ตาม เพราะยังขาดองค์ประกอบสำคัญของการละเมิดประเวณี  แต่มันนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันกับการละเมิดประเวณี  นั่นคือทำให้สายตระกูลปะปนกัน  ดังนั้นรูปแบบนี้  จึงมีข้อกำหนดที่ตรงกับการละเมิดประเวณี (ซินา)
                ทั้งสี่รูปแบบที่กล่าวมานี้ ดร.เราะอ์ฟัต อุสมาน มีความเห็นว่าเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาด สอดคล้องกับมติของนักวิชาการทั้งหลาย ที่ห้ามทำโคลนนิ่งมนุษย์
                แต่ยังมีอีกสองรูปแบบที่ ดร.เราะอ์ฟัต อุสมาน เห็นว่าควรชะลอการออกความเห็นในสองรูปแบบนี้ไว้ก่อน  โดยเขายังไม่เห็นด้วยกับนักวิชาการส่วนใหญ่ที่ให้ความเห็นไว้แล้วว่า เป็นสิ่งต้องห้าม
                รูปแบบที่หนึ่งก็คือ :  การเอานิวเคลียสที่มีสารพันธุกรรมจากเซลล์ของผู้ชาย (สามี) ใส่ลงไปในไข่ของสตรี (ภรรยา)  โดยมีเงื่อนไขว่าสามียังมีชีวิตอยู่ (เป็นการให้กำเนิดโดยไม่มีเพศสัมพันธ์กันระหว่างคู่สามีภรรยา)  ดร.เราะอ์ฟัต อุสมาน วินิจฉัยว่า ขอชะลอการออกความเห็นในรูปแบบนี้ โดยจะยังไม่ชี้ขาดว่าต้องห้ามหรืออนุมัติ  โดยให้คอยผลการค้นคว้าและทดลองในเรื่องการโคลนนิ่งก่อน  ถ้าหากผลลัพธ์ของการโคลนนิ่งออกมาปรากฏว่าเป็นทารกที่พิการไม่สมประกอบ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย จิตใจ หรือทางสังคมก็ตาม ข้อชี้ขาดก็คือเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาด  แต่ถ้าหากทารกที่คลอดออกมาเป็นปกติสมบูรณ์ ไม่พิการใดๆ  ข้อชี้ขาดในกรณีนี้ จะต้องนำมาอภิปรายกันในหมู่      นักวิชาการหลายสาขา ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ มานุษยวิทยา และนิติศาสตร์อิสลาม  โดยมีสามีที่ไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ด้วยวิธีธรรมชาติ (โดยมีเพศสัมพันธ์) เป็นเจ้าของสิทธิ์ที่จะใช้วิธีการโคลนนิ่ง มนุษย์ตามรูปแบบนี้
                ส่วนรูปแบบที่สอง : เป็นรูปแบบที่เรียกว่า แฝดสยาม หรือแฝดเหมือนเป็นรูปแบบของการโคลนนิ่งมนุษย์ ที่จำเป็นต้องใช้เชื้อสเปิร์มจากอสุจิ เช่นเดียวกับในรูปแบบก่อนๆ เป็นวิธีการที่จะให้กำเนิดทารกมากกว่าหนึ่งคน เช่นเดียวกับเด็กแฝด   วิธีการนี้จะใช้การผสมไข่กับเชื้อสเปิร์มนอกมดลูก จะเริ่มการโคลนนิ่งด้วยการกระตุ้นไข่ที่ผสมแล้ว ให้แบ่งเป็นตัวอ่อนเป็น 2, 3 ตัว โดยทั้งหมดจะมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกันทั้งหมด  ดร.เราะอ์ฟัต อุสมาน  วินิจฉัยว่าขอชะลอการออกความเห็น ออกไปก่อน คือจะยังไม่ตอบว่าเป็นสิ่งต้องห้ามหรืออนุมัติ โดยให้รอคอยผลการทดลองการโคลนนิ่ง และผลที่จะเกิดตามมาเสียก่อน.
                ข้าพเจ้าผู้ทบทวนบทวิจัยมีทัศนะว่า การโคลนนิ่งมนุษย์ เป็นสิ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาดและถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรม  แต่ยินยอมให้โคลนนิ่งพืชและสัตว์ได้ 

การทำแผนที่ยีน (gene mapping)
                สิ่งมีชีวิตประกอบด้วยเซลล์  ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของร่างกาย เซลล์หลายๆ เซลล์เจริญเติบโต รวมกันเป็นเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ เนื้อเยื่อหลายชนิดรวมกันเป็นอวัยวะ อวัยวะต่างๆ รวมกันเป็นร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์  ในแต่ละเซลล์จะมีนิวเคลียส ซึ่งมีลักษณะทรงกลมอยู่ตรงกลาง  ภายในนิวเคลียสประกอบด้วยโปรตีน ที่เรียกว่า DNA  ใน DNA จะบรรจุข้อมูลแสดงลักษณะต่างๆ ของมนุษย์ที่เป็นพันธุกรรม มีทั้งที่ดีและไม่ดีอยู่รวมกัน เช่น ลักษณะดำ ขาว สูง เตี้ย หรือ ลักษณะของการจะเกิดเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน มะเร็ง เป็นต้น  ข้อมูลนี้เรียกว่า ยีน (gene) ในร่างกายมนุษย์จะมี DNA อยู่ประมาณสามพันล้านตัว  มียีนอยู่ทั้งหมดห้าหมื่นถึงแสนยีน
                การทำแผนที่ยีน ก็คือ การที่นักวิทยาศาสตร์สามารถจะรู้ชนิดของยีน การเรียงลำดับของยีน  ระยะห่างของแต่ละยีนที่ควบคุมลักษณะต่างๆ ของมนุษย์  การทำแผนที่ยีนจึงช่วยให้สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าคนๆ หนึ่งต่อไปจะเป็นโรคอะไร หรือมีลักษณะอย่างไร  ช่วยทำให้สามารถจะเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ของตนเองเพื่อไม่ให้เกิดโรคนั้นๆ  หรือเกิดช้าลงได้  เป็นต้น
                ได้มีคำถามว่า เมื่อได้มีการประกาศการค้นพบแผนที่ยีนของมนุษย์ ซึ่งหมายความว่าจะสามารถรู้ความลับของชีวิตมนุษย์ได้ทั้งหมด  และด้วยแผนนี้จะทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติ โรคภัยไข้เจ็บ และโรคทางพันธุกรรมของมนุษย์แต่ละคนได้  อยากทราบว่าจุดยืนทางศาสนามีว่า อย่างไร?
                อาจารย์ ดร.อับดุลฟัตตาฮ์ อิดรีส  ได้ตอบว่า :
                “ในนามของอัลเลาะห์ผู้ทรงเมตตายิ่งผู้ทรงกรุณายิ่ง มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิแด่อัลเลาะห์ ขอพรและความสันติจงมีแด่ศาสนทูตของอัลเลาะห์  การค้นพบแผนที่ยีนของมนุษย์ หมายความว่าจะทำให้สามารถรู้ความลับชีวิตของมนุษย์ได้เป็นส่วนใหญ่ และจำเป็นต้องเก็บรักษาแผนที่นี้ไว้ในสถานที่ที่ปลอดภัย เพื่อรักษาความลับของบุคคลและเพื่อความปลอดภัยของเขา ไม่ยินยอมให้เผยแพร่แผนที่ยีน  และไม่ยอมเปิดเผยสิ่งที่เป็นความลับ  เพราะการนำมาเผยแพร่เปิดเผยถือเป็นการละเมิด และเป็นอันตรายที่ศาสนาห้ามไว้ “

 ความสำคัญของการไขรหัสของพันธุกรรมและอันตรายของมัน                รหัสพันธุกรรมของมนุษย์ทุกคน  เหมือนตำราที่มีข้อมูลมากมายที่เป็นเจ้าของบรรจุไว้ภายในเล่ม  และมันจะแสดงให้เห็นความลับของชีวิตที่ละเอียดอ่อนที่สุด  และยังแสดงให้เห็นชีวิตของลูกหลานที่สืบสกุลไปจากเขา และรวมถึงชีวิตบิดามารดาของเขาอีกด้วย เช่นเดียวกับที่ถือว่ายีนนี้ ตลอดจนสิ่งที่มีอยู่ในยีน ที่มีรหัสอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์มนุษย์  ที่จะไขเข้าไปสู่คุณสมบัติต่างๆ หรือโรคภัยไข้เจ็บ หรือความพิการทางพันธุกรรมที่เจาะจงแน่นอน มันจะเป็นเหมือนกับกระจก  ที่ส่องสะท้อนภาพที่เป็นจริงได้ไกลแสนไกล  สำหรับสิ่งที่เจ้าของมันจะเป็นไป ตลอดจนถึงลูกหลานและบรรพบุรุษของเขาทั้งจากลักษณะทางพันธุกรรมต่างๆ เช่น  ความสูง ความเตี้ย ผิวดำแดง ผิวแดง ความแข็งแรงของร่างกาย  หรืออ่อนแอ  ความอ้วน หรือผอม ความมีลูกดกหรือเป็นหมัน เป็นต้น  ยิ่งไปกว่านั้นมันยังเป็นกระจกเงาสำหรับโรคภัยไข้เจ็บ  ความพิการที่ผู้เป็นเจ้าของมีอยู่  ซึ่งจะถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานโดยตรงหรือโดยอ้อม  ตลอดจนโรคเลือด โรคหัวใจ และเส้นเลือด  เช่น มีรูระหว่างโพรงหัวใจ ลิ้น หัวใจตีบ  โรคความดันโลหิตสูง  โคเลสเตอรอลในเส้นเลือดสูง  โรคเบาหวาน  โรคภูมิคุ้มกัน  รวมถึงความพิการของโครโมโซมทางร่างกายและทางเพศที่อาจถ่ายทอดถึงลูกหลาน  และนำไปสู่การแท้งของ    ตัวอ่อน  หรือทารกที่มีรูปร่างพิการที่ไม่อาจใช้ชีวิตอย่างปกติได้  ตำราที่บรรจุข้อมูลเหล่านี้ จำเป็นต้องเก็บเป็นความลับอย่างสูง  โดยจะต้องไม่ให้ผู้ใดได้รับรู้ข้อมูล  นอกจากผู้ที่มีจุดมุ่งหมายที่ถูกต้อง และศาสนารับรอง ที่จะทำให้เขาได้รับอนุญาตรับรู้ความลับของเจ้าของตำรา เช่น นายแพทย์ผู้ทำ  การรักษา หรือผู้ที่ทำหน้าที่ตัดอวัยวะหรือ เอาอวัยวะจากเจ้าของแผนที่ยีนเพื่อปลูกถ่ายให้แก่คนอื่น หรือเพื่อย้ายมาให้เขา  หรือผู้ที่ทำหน้าที่ผสมเทียม หรือหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศ หรือหน่วยงานด้านตุลาการ หรือหน่วยงานสอบสวนคดีอาญา เพื่อตรวจหาความถูกต้อง DNA ของเจ้าของแผนที่ยีน  ขณะที่เกิดความสงสัยในทางอาญาหรือหน่วยนิติเวชที่ต้องการยืนยัน หรือปฏิเสธ การสืบสกุลของเจ้าของรหัสพันธุกรรม หรืออื่นๆ หรือแพทย์ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการตรวจผู้ที่ประสงค์จะแต่งงานกันทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง  เพื่อให้ทราบยีนของผู้ประสงค์จะแต่งงานกันว่า มีความสอดคล้อง (เข้ากันได้หรือไม่)  เพื่อจะได้ไม่ให้กำเนิดทารกที่มียีนพิการ หรือบกพร่องและบุคคลอื่นๆ ที่โดยปกติแล้วหน้าที่การงานของพวกเขาต้องรับรู้แผนที่พันธุกรรมของผู้คน และศาสนาให้การยอมรับพวกเขา
                หลักฐานที่ยืนยันว่าต้องปกปิดความลับของแผนที่พันธุกรรม
                ศาสนาใช้ให้เก็บรักษาของฝาก อัลเลาะห์ตาอาลาตรัสว่า :
                “แท้จริงอัลเลาะห์บัญชาใช้พวกเจ้าให้คืนของฝากแก่ผู้เป็นเจ้าของมัน”  (อันนิซาอ์ : 58)
                มีฮะดีษรายงานจาก อะบีฮุรอยเราะห์  (ร.ด.)  ว่าท่านรอซูลุ้ลเลาะห์ (ซ.ล.)  ได้กล่าวว่า     :
             “ท่านจงคืนของฝากแก่ผู้ที่มอบให้ท่านดูแล  และท่านอย่าทุจริตผู้ที่ทุจริตท่าน� ให้ถือว่าการไม่เก็บรักษาของฝากเป็นการทุจริต และถือว่าผู้ที่ทุจริตของฝากที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลนั้น มีลักษณะของผู้ที่กลับกลอก  “     มีรายงานจากอะบีฮุรอยเราะห์ (ร.ด.) ว่าท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า
             “เครื่องหมายของคนกลับกลอกมีสามอย่าง  :  เมื่อเขาพูดเขาจะโกหก เมื่อเขาสัญญาเขาจะผิดสัญญา  และเมื่อเขาได้รับความไว้วางใจเขาจะทุจริต”   รายงานโดยติรมีซี
                ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ได้อธิบายฮะดีษนี้ว่า : นักวิชาการส่วนใหญ่ยืนยันว่าทั้งสามประการนี้คือคุณสมบัติของคนที่กลับกลอก เมื่อผู้มีศรัทธาคนใดมีลักษณะดังกล่าว  เขาก็จะถูกเรียกว่าเป็น    คนกลับกลอก  ท่านคอตตอบีย์ ได้กล่าวว่า ฮะดีษนี้เป็นการเตือนสติมุสลิมไม่ให้มีพฤติกรรม  เช่นนั้น  ซึ่งถ้าหากเขามีพฤติกรรมเช่นนั้น ก็จะนำพาเขาไปสู่การเป็นคนกลับกลอกที่แท้จริง
                การเปิดเผยความลับของเจ้าของแผนที่ยีนแก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง  จะทำให้เกิดอันตรายใหญ่หลวงแก่ตัวเขาและลูกหลาน  ความจริงศาสนาห้ามการกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่น
                ท่านอิบนุอับบาสได้รายงานว่า  ท่านศาสน- ทูต (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า :
                “จะไม่มีการกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นและก่อให้เกิดอันตรายแก่ตนเอง  ในศาสนาอิสลาม  ฮะดีษนี้ มีความหมายเป็นการห้าม  หมายความว่า ไม่อนุมัติแก่ผู้ใด ที่จะก่อให้เกิดภัยอันตรายแก่บุคคลอื่น  ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตามและเมื่อการก่อภัยอันตรายต่อบุคคลอื่น  ถือเป็นสิ่ง ต้องห้ามทางบัญญัติศาสนา ดังนั้นผู้ที่ก่อภัยอันตรายให้เกิดกับผู้อื่นก็เป็นผู้ที่มีความผิด เขาจำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ที่ได้รับภัยอันตราย “
                ผู้ทบทวนมีทัศนะในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลของแผนที่ยีน  ดังนี้ :
·        ไม่อนุญาตให้ผู้มีหน้าที่ต้องรับรู้แผนที่ยีนนำข้อมูลแผนที่ยีนของบุคคลออกเปิดเผยแก่ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
·        การนำแผนที่ยีนของบุคคลออกเปิดเผยถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ และเป็นการทุจริต
·        ผู้ได้รับความเสียหายจากการเปิดเผยข้อมูลแผนที่ยีนมีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหาย และมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย
·        การเปิดเผยข้อมูลแผนที่ยีนจะกระทำได้ในกรอบที่แคบที่สุด และเฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้น

การบริจาคอวัยวะให้แก่คนต่างศาสนิก                 สรุปประเด็น จากเอกสารทางวิชาการที่สืบค้นได้ดังนี้
      -อนุญาตให้มุสลิมบริจาคอวัยวะให้แก่ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมได้  เช่นเดียวกับที่อนุญาตให้รับบริจาค อวัยวะจากผู้ที่มิใช่มุสลิม
                เชค ยูซุฟ อัลกอรฎอวีย์ ได้กล่าวว่า มีผู้คนมากมายถามว่า อนุญาตให้นำอวัยวะของคนที่ไม่ใช่มุสลิม มาปลูกถ่ายในร่างของมุสลิมได้หรือไม่ ?  และ  เขาก็ได้ตอบว่า แน่นอน อนุญาตให้กระทำได้ เพราะอวัยวะในร่างกายของมนุษย์นั้น ไม่เกี่ยวกับความเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิม อวัยวะทั้งหมดยอมจำนนต่ออัลเลาะห์  ทุกอวัยวะที่เข้าอยู่ในร่างของมนุษย์แล้วจะกล่าวคำสดุดีและสรรเสริญ อัลเลาะห์  ไม่มีสิ่งใดนอกจากสดุดีพร้อมด้วยการสรรเสริญอัลเลาะห์
                เช่นเดียวกับที่ยินยอมให้มุสลิมรับบริจาคอวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายจากผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม  ก็ยินยอม ให้มุสลิมบริจาคอวัยวะให้แก่คนที่ไม่ใช่มุสลิมด้วยเช่นเดียวกัน  พวกเขาจะไม่ใจบุญกว่าพวกเรา  พวกเขาบริจาคให้เรา โดยเราจะไม่บริจาคให้พวกเขาหรือ ? !
                อัลเลาะห์ ตาอาลา ตรัสว่า :
               “ อัลเลาะห์ไม่ห้ามพวกเจ้าที่จะปฏิบัติด้วยดีกับพวกที่ไม่ได้ต่อสู้กับพวกเจ้าในเรื่องศาสนา  และไม่ได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า และ (ไม่ห้าม) ที่พวกเจ้าจะให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา”  (อัลมุมตะฮิ-นะห์ 8)   ดังนั้นการปฏิบัติด้วยดี และทำความดีแก่พวกเขาจึงเป็นสิ่งที่ศาสนาเรียกร้องให้เกิดขึ้น
               “และพวกเขา (มุสลิม) จะให้อาหารเป็นทานทั้งที่ยังมีความต้องการมันแก่คนยากจน  เด็กกำพร้า และเชลยศึก”  (อัลอินซาน 8)   ซึ่งเชลยศึกในขณะนั้นไม่ใช่เป็นมุสลิม
               “แท้จริง เราให้อาหารแก่พวกเจ้าเพื่ออัลเลาะห์  โดยเราไม่ปรารถนาการตอบแทนและการขอบคุณจากพวกเจ้าแต่ประการใด” (อัลอินซาน 9)   

การปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์สู่มนุษย์                สรุปประเด็นจากเอกสารทางวิชาการที่สืบค้นได้ดังนี้
                - อนุญาตให้ปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์สู่มนุษย์ได้  แม้จะเป็นอวัยวะจากสัตว์ต้องห้ามในศาสนา อิสลาม (นะญิส) ก็ตาม  เพราะเป็นการปลูกถ่ายไว้ภายในร่างกาย  ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในเรื่องความสะอาด ที่เป็นเงื่อนไขในการประกอบศาสนกิจแต่อย่างใด
                ได้มีคำถามว่าจะอนุญาตให้ปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์สู่มนุษย์ได้หรือไม่  ถ้าหากสัตว์นั้นเป็นสุนัขหรือสุกร โดยได้รับการยืนยันในทางการแพทย์ว่าสามารถเอาอวัยวะบางอย่างจากสัตว์ได้แล้ว ?
                เชค ยูซุฟ อัลกอรฎอวีย์ ตอบว่า ข้าพเจ้าได้อภิปรายเรื่องนี้ในที่ประชุมและได้กล่าวไว้เป็นเบื้องต้นว่า  มีทรรศนะที่แตกต่างกันในประเด็นเหล่านี้ แม้แต่อิหม่ามมาลิกก็ได้กล่าวว่า สัตว์มีชีวิตทุกชนิดสะอาดแม้แต่สุนัข และยังมีผู้กล่าวว่าสุกรก็เป็นสัตว์ที่สะอาด ท่านอิหม่าม อัชเชากานีย์ ได้กล่าวว่า สุกรสะอาด เพราะอายะห์ที่กล่าวว่า   มันเป็นสิ่งโสโครก หมายถึงเนื้อของมันเป็นนะญิส  ถ้าหากมองในแง่นี้ ทางด้านนิติศาสตร์ก็เปิดกว้าง และอีกแง่หนึ่งข้าพเจ้าขอกล่าวว่าสิ่งโสโครก (นะญิส) ที่ศาสนาห้ามนั้นคือสิ่งที่มนุษย์แบกรับไว้ภายนอก  ส่วนสิ่งโสโครก (นะญิส) ที่มนุษย์แบกรับไว้ภายในนั้น จะไม่นำมาพิจารณา โดยมีหลักฐานว่าในร่างกายของมนุษย์นั้นมีทั้ง ปัสสาวะ อุจจาระ และเลือด ก็ไม่ได้มีการนำมาพิจารณาแต่อย่างใด  ดังนั้นเมื่อท่านนำเอาอวัยวะจากสัตว์ที่เป็นนะญิสมาใส่ไว้ในร่างกาย ก็จะไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้นในเรื่องความสะอาดที่ต้องมีในละหมาด และศาสนกิจอื่นๆ ที่มีเงื่อนไขว่าต้องสะอาด
               ทัศนะของผู้ทบทวนในประเด็นการปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์สู่มนุษย์ มีดังนี้
   -อนุญาตให้ปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์สู่มนุษย์ได้  แม้จะเป็นอวัยวะจากสัตว์ต้องห้ามในศาสนา อิสลาม (นะญิส) ก็ตาม  เพราะเป็นการปลูกถ่ายไว้ภายในร่างกาย ซึ่งไม่ก่อให้ผลกระทบในเรื่องความ สะอาด ที่เป็นเงื่อนไขในการประกอบศาสนกิจแต่อย่างใด

การให้กำเนิดลูกคนหนึ่งเพื่อใช้เป็นอะไหล่อวัยวะให้กับลูกอีกคนหนึ่ง                สรุปประเด็นจากเอกสารทางวิชาการที่สืบค้นได้ดังนี้
              -ไม่อนุญาตให้เอาอวัยวะจากผู้เยาว์ไปให้แก่ผู้อื่น แม้จะเป็นบิดามารดาหรือพี่น้องของตน
ก็ตาม
              - ผู้บริจาคอวัยวะต้องเป็นผู้บรรลุศาสนภาวะ
                มีคำถามว่า “ พวกเรามีเพื่อนบ้านสตรีคนหนึ่งที่ต้องการเปลี่ยนไต แต่สามีไม่ยอมบริจาคไตให้ ผู้เป็นบิดาต้องการให้บุตรชายบริจาคไตให้แก่ผู้เป็นแม่ แต่ภรรยาต้องการไตจากผู้เป็นสามีเพราะสามีมีอายุมากแล้ว ไม่ต้องการไตของบุตรเพราะต้องการให้บุตรมีสุขภาพสมบูรณ์ เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในภายหลัง มีข้อกำหนดทางศาสนาอย่างไร ในเรื่องนี้ ?”
                เชค ยูซุฟ อัลกอรฎอวีย์  ตอบว่า
                การบริจาคไม่ใช่เกิดจากคำสั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กยังเป็นผู้เยาว์ศาสนาไม่อนุญาตให้ทำการบริจาค  ผู้บริจาคนั้นจะต้องบรรลุศาสนภาวะ ในขณะที่นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า จะต้องมีอายุ 18 ปี  นักนิติศาสตร์อิสลามมีทัศนะแตกต่างกันในเรื่องวัยบรรลุศาสนภาวะ  บางท่านมีทัศนะว่าอายุ 15 ปี  บางท่านว่า 17 ปีหรือ 18 ปี  แต่บรรดาแพทย์กล่าวว่าต้องมีอายุถึง 21 ปี ซึ่งถือว่าเป็นวัยที่มีความรับผิดชอบ เพราะเรื่องการบริจาคอวัยวะเป็นเรื่องที่มีอันตรายมาก
               ถ้าหากบุตรเป็นผู้เยาว์ ไม่อนุญาตให้ผู้เป็นบิดาบังคับบุตรของตน และไม่อนุญาตให้เอาอวัยวะใดจากบุตรของตน และเมื่อบุตรบรรลุศาสนภาวะแล้ว เขาจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะบริจาคให้แก่มารดาหรือไม่ และการทดแทนคุณมารดานั้นไม่ได้อยู่ที่การบริจาคอวัยวะให้  การบริจาคเป็นสิ่งที่ควรกระทำ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ และไม่อนุญาตให้บิดาบังคับบุตรให้บริจาคอวัยวะแก่มารดา เพราะเรื่องนี้ไม่ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องถูกบังคับให้กระทำ แต่เป็นสิ่งที่ต้องสมัครใจกระทำเองเท่านั้น  จะไม่มีการบังคับให้บริจาคอวัยวะเป็นอันขาด
                ทัศนะของผู้ทบทวนบทวิจัย
                - ไม่อนุญาตให้เอาอวัยวะจากผู้เยาว์ไปให้แก่ผู้อื่น แม้จะเป็นบิดามารดาหรือพี่น้องของตนก็ตาม
                - ผู้บริจาคอวัยวะต้องเป็นผู้บรรลุศาสนภาวะ และบริจาคอวัยวะด้วยความสมัครใจ

การคุมกำเนิด                สรุปประเด็นจากเอกสารทางวิชาการที่สืบค้นได้ดังนี้
                 - เป้าหมายของการแต่งงาน ตามหลักศาสนาอิสลามคือ การมีบุตร และการรักษาเผ่าพันธุ์มนุษย์ และไม่ยินยอมให้ทำลายเป้าหมายนี้ด้วยการคุมกำเนิด เพราะการทำลายเป้าหมายนี้ขัดกับบทบัญญัติศาสนา
                - ยินยอมให้ควบคุมการมีบุตรได้ชั่วคราวเพื่อเว้นช่วงการตั้งครรภ์  หรือพักการตั้งครรภ์เป็น การชั่วคราวในช่วงเวลาหนึ่ง เพราะมีความจำเป็นตามบัญญัติศาสนา ทั้งนี้โดยการกำหนดร่วมกันของคู่สามีภรรยา  และด้วยความพอใจของทั้งสองฝ่าย
                สภานิติศาสตร์อิสลาม ซึ่งจัดการประชุมขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ที่ประเทศคูเวตตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่  6 ญามาดั้ลอาคิร ฮ.ศ.1409 ตรงกับวันที่ 10 - 15 ธันวาคม ค.ศ. 1988  หลังจากได้ตรวจสอบบทความที่ส่งมาจากคณะกรรมการและผู้เชี่ยวชาญ ในหัวข้อเรื่องการคุมกำเนิด และภายหลังจากได้รับฟังการอภิปรายเกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าว ได้เห็นพ้องต้องกันว่า เป้าหมายของการแต่งงานตามหลักศาสนาอิสลามคือ การมีบุตรและการรักษาเผ่าพันธุ์มนุษย์  และไม่ยินยอมให้ทำลายเป้าหมายนี้  เพราะการทำลายเป้าหมายนี้ขัดกับบทบัญญัติศาสนา และคำแนะนำของบทบัญญัติที่เรียกร้องให้มีบุตรมากๆ เพื่อปกป้องและรักษาวงศ์วาน โดยถือว่าการปกป้องและรักษาวงศ์วาน เป็นหนึ่งจากหลักสำคัญห้าประการที่บัญญัติศาสนาให้การคุ้มครอง  จึงได้มีมติดังต่อไปนี้ :
                หนึ่ง        ไม่ยินยอม ให้ออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพของคู่สามีภรรยาในการมีบุตร
                สอง         ห้ามกำจัดความสามารถในการมีบุตรทั้งในเพศชายและเพศหญิงด้วยการทำหมัน  เมื่อไม่มีความความคับขันตามมาตรฐานของศาสนา
                สาม         อนุญาตให้ควบคุมการมีบุตรได้ชั่วคราว เพื่อเว้นช่วงการตั้งครรภ์ หรือพักการตั้งครรภ์เป็นการชั่วคราวในช่วงเวลาหนึ่งเพราะมีความจำเป็นตามบัญญัติศาสนา  ทั้งนี้โดยการกำหนด ร่วมกัน ของคู่สามีภรรยา และด้วยความพอใจของทั้งสองฝ่าย  โดยมีเงื่อนไขว่าจะไม่เกิดอันตรายขึ้นกับการกระทำเช่นนั้น  และสื่อที่ใช้ในการเว้นระยะการตั้งครรภ์จะต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักศาสนา และจะต้องไม่ทำให้ครรภ์ที่มีอยู่เป็นอันตราย.

                ผู้ทบทวนมีทัศนะในประเด็นการคุมกำเนิด ดังนี้ :                -เป้าหมายของการแต่งงานตามหลักศาสนาอิสลาม คือการมีบุตรและการรักษาเผ่าพันธุ์ มนุษย์ และไม่ยินยอมให้ทำลายเป้าหมายนี้ด้วยการคุมกำเนิด เพราะการทำลายเป้าหมายนี้ขัดกับบทบัญญัติศาสนา
                 - ยินยอมให้ควบคุมการมีบุตรได้ชั่วคราว เพื่อเว้นช่วงการตั้งครรภ์ หรือพักการตั้งครรภ์เป็นการชั่วคราวในช่วงเวลาหนึ่งเพราะมีความจำเป็นตามบัญญัติศาสนา  ทั้งนี้โดยการกำหนดร่วมกัน ของคู่สามีภรรยา และด้วยความพอใจของทั้งสองฝ่าย

การทำแท้งทารกที่พบว่ามีความผิดปรกติ                สรุปประเด็นจากเอกสารทางวิชาการที่สืบค้นได้ดังนี้
                มีคำถามว่า “ดิฉันมีเพื่อนคนหนึ่งกำลังตั้งครรภ์ แพทย์หลายคนลงความเห็นว่าทารกพิการมีความจำเป็นต้องทำแท้ง  อยากทราบว่ามีบทบัญญัติทางศาสนาว่าอย่างไรในเรื่องนี้ ?”
                ดร. ฮุชามุดดีน บินมูซา อะฟานะห์ ได้ตอบว่า
                ในนามของอัลเลาะห์ มวลการสรรเสริญในนามของอัลเลาะห์ มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์แด่อัลเลาะห์  ขอพรและความสันติสุขจงมีแด่ศาสดาของอัลเลาะห์  การมีชีวิตของทารกเป็นชีวิตที่มีศักดิ์ศรี จำเป็นต้องรักษาไว้ เมื่อแพทย์หลายท่านลงความเห็นว่าทารกพิการทางร่างกายให้พิจารณาดังนี้ ถ้าหากความพิการนี้ เป็นสิ่งที่ติดตัวทารก เช่น ดวงตาพิการ เป็นต้น ในกรณีนี้ห้าม (ฮะรอม)    ทำแท้งโดยไม่มีเงื่อนไข  แต่ถ้าหากความพิการนี้เป็นอันตราย  อนุญาตให้ทำแท้งได้ก่อนใส่วิญญาณ และไม่อนุญาตทำแท้งภายหลังจากใส่วิญญาณแล้ว และถ้าหากการปล่อยทารกไว้กลัวว่าจะเกิดอันตรายกับผู้เป็นมารดา ก็อนุญาตให้ทำแท้งได้โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ            สิ่งที่ควรทราบเป็นลำดับแรก ก็คือข้อกำหนดทางศาสนาเกี่ยวกับการทำแท้งทั่วๆ ไป ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องการทำแท้งทารกที่พิการ
                นักวิชาการเห็นพ้องกันว่า  ห้ามทำแท้งทารกที่ตั้งครรภ์ผ่าน 120 วันไปแล้ว  ทั้งนี้เพราะวิญญาณ ได้ถูกใส่เข้าไปในทารกแล้ว  เมื่อผ่านกำหนดเวลาดังกล่าว  ตามทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่  เพราะมีหะดีษที่เล่าจากอับดิลลาห์ บุตร มัสอุด (ร.ด) ว่าท่านศาสนทูต (ซ.ล) ผู้สัจจะและได้รับการรับรองว่ามีสัจจะ ได้เล่าให้พวกเราฟังว่า คนใดก็ตามในหมู่พวกเจ้านั้น การสร้างเขาจะถูกรวมอยู่ในครรภ์มารดาเป็นเวลาสี่สิบวัน หลังจากนั้นจะกลายเป็นก้อนเลือดในเวลาเท่ากันนั้น หลังจากนั้นจะกลายเป็นก้อนเนื้อในเวลาเท่ากันนั้น หลังจากนั้นอัลเลาะห์จะส่งเทวทูต (ญิบรีล) มา และเขาจะถูกบัญชาไว้สี่ประการคือ ปัจจัยยังชีพของเขา  อายุขัยของเขา  การงานของเขา ชั่วหรือดี และหลังจากนั้นวิญญาณจะถูกใส่เข้าไปในร่างของเขา..  รายงานโดยบุคอรี
                มีข้อยกเว้นจากข้อกำหนดดังกล่าว เพียงสภาพเดียวเท่านั้นคือ เมื่อคณะเเพทย์ที่เชื่อถือได้และเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ยืนยันว่า  การปล่อยครรภ์ไว้จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างแน่นอนแก่ชีวิตของผู้เป็นมารดา  จึงอนุญาตให้ทำแท้งได้
                ทางสภานิติศาสตร์อิสลามขององค์การสันนิบาตโลกอิสลาม ที่นครมักกะห์ ได้มีมติไว้ดังนี้เมื่อตั้งครรภ์ได้ 120 วัน ไม่อนุญาตให้ทำแท้ง ถึงแม้การตรวจทางการแพทย์จะยืนยันว่า ทารกมี
รูปร่างพิการ ยกเว้นเมื่อปรากฏตามรายงานของคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า การปล่อยทารกในครรภ์ไว้จะเป็นอันตรายอย่างแน่นอนกับผู้เป็นมารดา จึงอนุญาตให้ทำแท้งได้ไม่ว่าทารกจะพิการหรือไม่ก็ตาม เพื่อป้องกันอันตรายที่ใหญ่หลวงที่สุดจากอันตรายทั้งสองอย่าง (คืออันตรายที่เกิดกับชีวิตของมารดา และอันตรายที่เกิดกับทารกจากการทำแท้ง)

                ผู้ทบทวนมีทัศนะในประเด็นการทำแท้งทารกที่พบว่ามีความผิดปรกติมีดังนี้                การมีชีวิตของทารกเป็นชีวิตที่มีศักดิ์ศรี  จำเป็นต้องรักษาไว้  เมื่อแพทย์หลายท่านลงความเห็นว่าทารกพิการทางร่างกายให้พิจารณาดังนี้ ถ้าหากความพิการนี้ เป็นสิ่งที่ติดตัวทารก เช่นดวงตาพิการ เป็นต้น ในกรณีนี้ห้าม (ฮะรอม) ทำแท้งโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ถ้าหากความพิการนี้เป็นอันตรายอนุญาตให้ทำแท้งได้ก่อนใส่วิญญาณ คือก่อน 120 วันนับแต่ตั้งครรภ์ และไม่อนุญาตทำแท้งภายหลังจากใส่วิญญาณแล้ว  แต่ถ้าหากการปล่อยทารกไว้ในครรภ์จะเกิดอันตรายกับผู้เป็นมารดาก็อนุญาตให้ทำแท้งได้โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ  ทัศนะนี้อาศัยหลักการของศาสนาไม่ใช่หลักกฎหมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น