วิทยาศาสตร์ขัดแย้งกับศาสนารึ? แต่ต้องไม่ใช่สำหรับมุสลิมแน่ๆ!


วิทยาศาสตร์ขัดแย้งกับศาสนารึ? แต่ต้องไม่ใช่สำหรับมุสลิมแน่ๆ!
Science conflicting with Religion? Not for Muslims!
แปลโดย ลานา อัมรีล
จงอ่านเถิดด้วยพระนามของพระผู้อภิบาลของเจ้า ผู้ทรงสร้าง (สากลจักรวาลผู้ทรงสร้างมนุษย์จากก้อนเลือด จงอ่านเถิด และพระเจ้าของเจ้าทรงเอื้อเฟื้อยิ่ง ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา (ให้มนุษย์รู้จักการขีดเขียน) ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้ (ให้รู้จักค้นคว้า) (อัล-กุรอาน, 96:1-5)


ความแตกต่างที่เป็นพื้นฐานที่สุดและโดดเด่นที่สุดระหว่างวิทยาศาสตร์อิสลามและวิทยาศาสตร์โลกเซคคิวล่าร์ตะวันตกก็คือ อิสลามและอารยธรรมมุสลิมได้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดพร้อมๆ กันในศตวรรษเดียวกัน ไม่มีช่วงใดในประวัติศาสตร์ของพวกเขา และไม่ว่าในสถานการณ์ใดก็ตาม ที่ชาวมุสลิมได้เคยประสบความสำเร็จสูงสุดมากไปกว่าในช่วงที่เรียกว่ายุคทองของศิลปวิทยาการอิสลาม’ (ค.ศ.800-1200) และหลังจากนั้นแสนยานุภาพทางทหารของจักรวรรดิอิสลามก็เข้าสู่ภาวะถดถอยทั้งในด้านตะวันออก (มองโกลทำลายล้างแบกแดดราบคาบในปี 1258) และด้านตะวันตก (กองทัพคริสเตียนเข้ายึดอัล-อันดาลุสหรือสเปนคืนจากมุสลิม ปี 1236 ยึดกอร์โดบา; ปี 1238 บาเลนเซีย;และปี 1248 เซบียา) ทำให้อารยธรรมอิสลามถึงคราวเสื่อมถอย

ทั้งศูนย์กลางการศึกษา, นักปราชญ์นักวิชาการ, ตำรับตำรา, และห้องสมุดถูกทำลายยับเยินจากกองทัพอนารยะ และตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นไป อารยธรรมอิสลามแม้จะดำรงอยู่แต่อ่อนแอมาก มิได้รังสรรค์วิทยาการแก่โลกอย่างวิจิตรเหมือนช่วง 500 ปีก่อนหน้านั้นครั้งที่จักรวรรดิอิสลามมีแต่ความสงบสันติและทรงอำนาจสูงสุด

ความแตกต่างอีกประการหนึ่งของวิทยาศาสตร์ตะวันตกและวิทยาศาสตร์อิสลามก็คือ วิทยาศาสตร์ตะวันตกถูกพัฒนาขึ้นนอกกรอบของศาสนา ในขณะที่อิสลาม, ดังที่ได้ระบุไว้ในอัล-กุรอานและฮะดิษซ้ำแล้วซ้ำเล่า, กลับกลายเป็นศาสนาที่เป็นแรงบันดาลใจให้นักปราชญ์นักวิชาการก้าวออกไปค้นหาความจริงทางวิทยาศาสตร์

และช่างต่างจากอิสลามยิ่งนัก เพราะศาสนาและวิทยาศาสตร์ตะวันตกสมัยใหม่ดูเหมือนเจอกันเมื่อไหร่ก็ขัดแย้งกันเมื่อนั้น เรื่องนี้เกิดขึ้นมาหลายศตวรรษแล้ว ช่วงที่คริสตศาสนามีอำนาจสูงสุดก็ปรากฎว่าผู้มีความเห็นต่างจากคริสตจักรถูกเผาทั้งเป็น นักปราชญ์เรืองนามจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของคริสตจักรอาทิ Bruno, Huss, Servetus เรื่องนี้ในสมัยก่อนสามารถพบเห็นได้ทั่วไป คริสตจักรประนามวิทยาศาสตร์ แต่นั่นมิใช่เพราะเหตุผลจากคัมภีร์, มอริส บูเกล อธิบาย, หากวิทยาศาสตร์นั้นถูกขัดขวางโดยผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้รับใช้คริสตศาสนาและกระทำไปการตามแรงปรารถนาของตัวเอง

เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเผาทั้งเป็น นักวิทยาศาสตร์ในคริสเตียนยุโรปยุคนั้นจำเป็นต้องละทิ้งความจริงทางวิทยาศาสตร์ หรือไม่ก็กลับความเห็นของตัวเองเสีย กาลิเลโอเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของเรื่องนี้ และท้ายที่สุดวิทยาศาสตร์กับศาสนาในโลกตะวันตกก็ค่อยๆ แยกจากกัน

สิ่งที่เรียกกันว่าการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ของยุโรปเกิดขึ้นก็ตอนที่อำนาจของคริสตจักรเริ่มเสื่อมถอยแล้วเท่านั้น คือตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นไป และเมื่อถึงศตวรรษที่ 19นักวิทยาศาสตร์ ก็สามารถเสี่ยงกับความคิดแปลกใหม่ที่เป็นปฏิปักษ์กับคำสอนของศาสนา รวมไปถึงทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน ซึ่งได้ปฏิเสธบทบาทของพระเจ้าในการสร้างโลกและสรรพสิ่งโดยสิ้นเชิง

ในทุกวันนี้การแยกวิทยาศาสตร์ออกจากศาสนาในโลกตะวันตกเป็นไปอย่างสมบูรณ์แล้ว จะว่าไปแล้วก็คือใครก็ตามที่ศรัทธาในพระเจ้าหากอยู่ในวงจรวิชาการโลกตะวันตกละก็ถูกถือว่าเป็นพวกนอกคอกเลยทีเดียว เรื่องราวทั้งหลายมันกลับตาลปัตรเช่นนี้แหละ

ในทุกวันนี้ มิใช่เพียงแค่แยกคริสตศาสนาออกจากวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่หมายถึงการแยกศาสนาทุกศาสนาออกจากวิทยาศาสตร์ด้วย เหตุผลก็คือวิทยาศาสตร์ที่ผู้คนศึกษากันนั้นเป็นวิทยาศาสตร์ตะวันตก วิทยาศาสตร์ดังกล่าวเป็นศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาจากความขัดแย้งกับคริสตจักร มิใช่วิทยาศาสตร์มุสลิมเมื่อ 1,000 ปีก่อนที่ก่อกำเนิดขึ้นมาอย่างสอดคล้องและกลมกลืนกับศาสนา

ความคิดที่ว่าวิทยาศาสตร์ไปด้วยกันไม่ได้กับศาสนาถูกกำหนดขึ้นมาโดยความคิดของวิทยาศาสตร์ตะวันตกที่ครอบงำโลกอยู่ รวมทั้งการไม่รู้ประวัติศาสตร์ของผู้คน เลยทำให้คนในทุกวันนี้หลงเชื่อกฎเกณฑ์ของวิทยาศาสตร์ตะวันตกที่บอกว่าวิทยาศาสตร์กับศาสนาเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้ เรื่องนี้อาลี คาตามี ได้เคยบอกไว้ว่า พวกที่อ้างว่าศาสนาทั้งหลายก็เหมือนๆ กัน แล้วก็กลับมาเหมารวมประสบการณ์ตะวันตกเข้ากับโลกมุสลิมด้วย (คือคริสตจักรเผานักวิทยาศาสตร์ทั้งเป็น แต่โลกอิสลามไม่เคยมีปรากฎเช่นนี้ นักปราชญ์ นักคิด ได้รับยกย่องอย่างสูงในโลกอิสลามเสมอมา) ซึ่งเรื่องนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นผลมาจากการขาดความใส่ใจในข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์โดยแท้ ซาดาร์กล่าวว่า กฎเกณฑ์ที่บอกว่าวิทยาศาสตร์กับศาสนาเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้นั้นความจริงแล้วเป็นเรื่องที่สร้างขึ้นมาโดยโลกตะวันตกขนานแท้ ซึ่งเป็นผลมาจากการเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างผู้ซึ่งอ้างตัวเองเป็นผู้พิทักษ์คริสตศาสนากับกลุ่มคนซึ่งลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจคริสตจักรในโลกสมัยกลางต่างหาก เขายังบอกอีกว่า ทุกวันนี้โลกตะวันตกใช้ประสบการณ์ของยุโรปสมัยกลางเพียงอย่างดียวมาตัดสินความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับศาสนา แล้วมากำหนดให้มนุษย์ในทุกวันนี้คิดว่าวิทยาศาสตร์และศาสนาเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน ซึ่งพวกที่กำหนดเช่นนี้มิใช่แค่เป็นพวกที่คิดว่ายุโรปเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง แต่ยังเป็นความคิดที่แย่มาก

อิสลามนั้นต่างจากคริสตศาสนาในยุคกลางอย่างเด่นชัด เพราะอิสลาม ‘ไม่เคยขัดขวางการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และหนึ่งในผลลัพธ์นั้นก็คือ, จาก บาสรา (อิรัก) ไปจนถึงกอร์โดบา (สเปน) มหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายต่างก็ถือกำเนิดขึ้นมาก่อนหน้ามหาวิทยาลัยแห่งแรกในโลกคริสเตียนตั้งหลายศตวรรษ ห้องสมุดกอร์โดบามีหนังสือถึง 600,000 เล่ม และ ช่างฝีมือและจิตรกรของโลกอาหรับนั้นมีความสามารถไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบรรดานักวิทยาศาสตร์

ชาวมุสลิมถูกวาดภาพอย่างไม่น่าพิสมัยทั้งในจอทีวี แมกกาซีน ภาพยนตร์ และสื่อมวลชนทั่วไป  เลยไม่น่าประหลาดใจที่ใครๆ จะคิดไม่ถึงว่าชาวมุสลิมและศาสนาของพวกเขาจะเคยสรรค์สร้างอารยธรรมและวิทยาศาสตร์อันเกรียงไกรมาแล้ว นักประวัติศาสตร์ และ นักวิจารณ์ มักใช้ความสามารถอันเหลือเชื่อในการพ่นสีประวัติศาสตร์อิสลามว่า ชาวมุสลิมนั้นร้ายกาจกว่าชาวมองโกล เป็นนักทำลายล้างแห่งประวัติศาสตร์ แต่ก็นั่นแหละ ประเทศมุสลิมเองซึ่งไร้อำนาจ ไร้ระบบ ไร้องค์กร ส่วนหนึ่งก็ต้องรับผิดชอบกับภาพลักษณ์แย่ๆ นั้นด้วย

มีนักวิชาการตะวันตกและนักบูรพาคดีจำนวนมากที่ขยันป้ายสีและไม่นำพาต่ออารยธรรมที่อิสลามเคยสร้างสรรค์ไว้ บางรายบอกว่าอิสลามคือพลังแห่งความชั่วร้ายและเป็นจุดจบของอารยธรรม อคติและจิตใจอันมืดบอดได้บดบังดวงตาของพวกเขา นักเขียนบางคนไม่ยอมรับว่าวิทยาศาสตร์อิสลามได้บรรลุถึงจุดสุดยอดภายใต้ร่มธงอิสลามและในยามที่จักรวรรดิอิสลามเจริญถึงขีดสุด มอริส บูเกลเคยบอกไว้ว่า ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่โลกตะวันตกมีต่ออิสลามเป็นผลมาจากความเฉยเมยและการใส่ร้ายป้ายสีอย่างเป็นระบบ

อัล-กุรอานได้กล่าวหลายครั้งหลายหนให้ผู้ศรัทธาศึกษาหาความรู้ ในขณะเดียวกันก็ได้ระบุการสังเกตปรากฎการณ์ธรรมชาติไว้มากมายที่กระตุ้นให้มนุษย์ใช้ปัญญาเช่นในเรื่องการสร้างโลกและจักรวาล ตัวอย่างดังโองการต่อไปนี้:-

 จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) บรรดาผู้รู้และบรรดาผู้ไม่รู้จะเสมือนกันหรือแท้จริงบรรดาผู้มีสติปัญญาเท่านั้นที่จะใคร่ครวญ. (39: 9)

— ในไม่ช้าเราจะแสดงแก่พวกเขาซึ่งสัญญาณทั้งหลายของเราในนานาเขตอันไกลโพ้นและ (ความเป็นไปต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวพวกเขาเอง จนกระทั่งได้เป็นที่กระจ่างแจ้งแก่พวกเขาว่ามันเป็นความจริง ยังไม่เพียงพอ (แก่เจ้า-มุฮัมมัด) อีกหรือที่พระผู้อภิบาลของเจ้านั้น พระองค์ทรงเป็นพยานต่อทุกสิ่ง. (41:53)

 และพระองค์ทรงทำให้สิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลาย และสิ่งที่อยู่ในแผ่นดินนี้เเป็นประโยชน์แก่พวกเจ้า ทั้งหมดนี้ (เป็นความโปรดปรานมาจากพระองค์ แท้จริง ในนั้น มีสัญญาณสำหรับหมู่ชนผู้ใคร่ครวญ. (45: 13)
อัล-กุรอานได้กล่าวหลายครั้งหลายหน: ทำไมถึงไม่ใช้ปัญญาเล่าทำไมถึงไม่ใคร่ครวญเล่า?’ พระคัมภีร์ได้กระตุ้นตลอดเวลาให้ผู้ศรัทธาใช้ปัญญาและบอกให้ใช้ความคิด เสาะหาความจริง และวิเคราะห์เรื่องราวที่เกิดขึ้น
มุฮัมมัด อิกบาล บอกว่า การที่อัล-กุรอานได้เตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้มนุษย์ใช้ปัญญาและใคร่ครวญก็เพื่อ ปลุกเร้าจิตสำนึกของมนุษย์ให้ตระหนักว่าธรรมชาตินั้นคือสัญลักษณ์ (ที่เราต้องค้นหาความหมาย)’ ส่วน ฟารูกี ก็บอกว่า พระเจ้าทรงสร้างโลกนี้ขึ้นมาให้มีรูปแบบและมีระบบที่แน่นอนและสมบูรณ์แบบ พระองค์ได้ออกแบบให้เราต้องสงสัยในความสมบูรณ์แบบและความมีระเบียบกฎเกณฑ์แน่ชัด พระผู้อภิบาลเชื้อเชิญให้มนุษย์ศึกษา สังเกต สำรวจ และวิเคราะห์ธรรมชาติ เพื่อมนุษย์จะได้ตระหนัก สักการะ และรับใช้พระองค์’ อัลกุรอานได้เรียกร้องให้ บรรดานักปราชญ์เจ้าปัญหาจอมตั้งคำถามที่สุดจงออกไปค้นหา และจงมั่นใจเถิดว่าท้ายที่สุดมนุษย์ก็จะเจอว่าคำกล่าวอ้างของอิสลามเกี่ยวกับพระเจ้าและสิ่งที่พระองค์สรรค์สร้างไว้เพื่อธรรมชาติ เพื่อมนุษย์ และประวัติศาสตร์ จะถูกยืนยันอีกครั้งโดยการค้นพบของนักปราชญ์และนักวิทยาศาสตร์นั่นเอง ด้วยศรัทธาทำให้มนุษย์ได้มองเห็นรูปแบบการสร้างสรรค์ของพระเจ้าในธรรมชาติ เคร่งครัดในการกระทำดีเพื่อพิจารณารูปแบบเหล่านั้นได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม และทำทาน ทำกุศล เพื่อสอนผู้อื่น
มีฮะดิษของท่านศาสนฑูตมุฮัมมัด (ซ.ล.) มากมายที่กระตุ้นให้มุสลิมแสวงหาความรู้ ต่อไปนี้เป็นเพียงตัวอย่างเพียงเล็กน้อย:-
"จงออกไปแสวงหาความรู้ แม้จะต้องเดินทางไกลถึงเมืองจีน
"จงศึกษาหาความรู้ตั้งแต่ในเปลจนถึงหลุมฝังศพ"
การศึกษาหาความรู้เป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคน ทั้งชายและหญิง
สำหรับอิสลามแล้ว ความรู้มิใช่สิ่งน่ากลัวที่จะมาคุกคามความสงบสุขดังที่ผู้คนต่างศาสนิกรู้สึกกับศาสนาตัวเอง นักปราชญ์มุสลิมตระหนักถึงความซับซ้อน, ระบบระเบียบที่แน่ชัด,ความกลมกลืน, ความสมบูรณ์แบบ, และการทำงานของจักรวาล ซึ่งได้นำผู้คนเข้าใกล้ชิดพระเจ้าและสารของพระองค์ อัล-บัตตานีได้ระบุไว้ในตำราดาราศาสตร์ของเขา ซิจอัล-ซาบี (Zij al-Sabi) ว่า ศาสตร์เกี่ยวกับวัตถุท้องฟ้านั้นมีประโยชน์มากมายมหาศาล เพราะทำให้นักดาราศาสตร์สามารถคำนวณระยะเวลาของปี เดือน และเวลาและฤดูกาลที่ต่างกัน ความยาวและความสั้นของกลางคืนและกลางวัน ตำแหน่งของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ การเกิดคราส การโคจรของโลกและดวงดาวต่างๆ อัล-บัตตานีบอกว่าความรู้เหล่านี้ทำให้ผู้คนได้รู้อย่างลึกซึ้งและมั่นคงถึงข้อพิสูจน์ว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวเท่านั้น และเข้าใจถึงเดชานุภาพ ปัญญาที่หาที่สุดมิได้ของพระผู้อภิบาล และอำนาจของพระองค์ที่หาผู้ใดเสมอเหมือน
อัล-อูรดีบอกว่าประโยชน์ของดาราศาสตร์นั้นมีมากมายมหาศาลต่อผู้คน ซึ่งครุ่นคิดถึงความแจ่มจรัสของดวงดาวและการโคจรของวัตถุท้องฟ้า และนั่นก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงความมหัศจรรย์และหลักฐานเรื่องความมีอยู่ของพระเจ้า’ เขาบอกว่า ดาราศาสตร์นั้น นำไปสู่วิทยาศาสตร์ของเทววิทยาและเป็นพยานยืนยันถึงความเกรียงไกรของพระผู้เป็นเจ้า 
ในศตวรรษที่ 17 ฮัจยีคาลีฟาได้อธิบายว่า ทั้งดาราศาสตร์และกายวิภาคศาสตร์ได้นำไปสู่ความเข้าใจเรื่องพระเจ้าได้ดีขึ้น เป็นความสมบูรณ์ลงตัวของศรัทธากับเหตุผล ในอิสลามแล้วทั้งสองอย่างนี้ไปด้วยกันได้ดีแทนที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างที่เห็นในอารยธรรมอื่น
คัมภีร์อัล-กุรอานเอง, ดังความเห็นของนักปราชญ์เรืองนาม, เต็มไปด้วยความจริงทางวิทยาศาสตร์ ทำให้มอริส บูเกลลงความเห็นว่า เราจำเป็นต้องประเมินความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ปรากฎอยู่มากมายใน เอนไซคละพีเดีย เล่มนี้ บูเกลยังบอกอีกว่าในขณะที่อัล-กุรอานบรรจุความจริงทางวิทยาศาสตร์ไว้มากมาย นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถหาข้อขัดแย้งในนั้นได้หรือมีความขัดแย้งกับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ และในขณะที่ความจริงทางวิทยาศาสตร์มักถูกตั้งคำถามเสมอๆ และหลายอย่างก็ถูกระบุว่าไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไป แต่อัล-กุรอานกลับยังคงความจริงไว้ไม่เปลี่ยนแปลงและตลอดกาล จากเว็บไซต์นี้ http://www.sharif.org.uk/science0.htm ท่านสามารถตรวจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ เรื่องราวส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับน้ำ ดังนั้นจึงกล่าวกันว่าหัวข้อ โองการที่ประกอบด้วยเรื่องทั่วไป จึงเป็นโองการที่ตั้งใจจะนำ มนุษย์ไปสู่การใคร่ครวญถึงพระเมตตาธิคุณของพระผู้อภิบาลต่อสิ่งทั้งหลายที่พระองค์ได้สร้างขึ้นมา และก็ยังประกอบไปด้วยคำกล่าวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ดังเช่นในโองการต่อไปนี้:-
(2: 22):
"ผู้ทรงทำแผ่นดินเป็นพื้นปู (ที่พักสำหรับพวกเจ้า และชั้นฟ้าเป็นหลังคาแก่พวกเจ้า และทรงให้น้ำหลั่งลงมาจากฟากฟ้า แล้วได้ทรงให้บรรดาผลไม้ออกมา เนื่องด้วยน้ำนั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่าตั้งผู้เท่าเทียมใดๆ ขึ้นสำหรับอัลลอฮฺโดยที่พวกเจ้าก็รู้กันอยู่"

(2: 164):
"แท้จริงในการสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน และสับเปลี่ยนของกลางคืนและกลางวัน และนาวาที่ล่องในสมุทรด้วยสิ่งซึ่งอำนวยประโยชน์แก่มนุษย์ และที่อัลลอฮ์ได้ทรงให้หลั่งลงมาจากฟากฟ้าคือน้ำ แล้วได้ทรงให้แผ่นดินมีชีวิตชีวาขึ้นด้วยน้ำนั้นหลังจากที่มันตายไปแล้ว (*2*) และได้ทรงให้สัตว์แต่ละชนิดแพร่สะพัดไปในแผ่นดิน และการผันแปรของลมต่างๆ และเมฆ (อันอยู่ใต้พระบัญชา) ระหว่างฟากฟ้าและแผ่นดินนั้น แน่นอนล้วนเป็นสัญญาณนานาประการแก่กลุ่มชนที่ใช้ปัญญา"

(13: 3):
"และพระองค์คือผู้ทรงแผ่แผ่นดิน(*1*) และในนั้นทรงทำให้มันมีภูเขามั่นคง(*2*) และลำน้ำมากหลาย และจากพืชผลทุกชนิดทรงให้มีจำนวนคู่(*3*) ทรงให้กลางคืนครอบคลุมกลางวัน แท้จริงในการนั้นแน่นอนย่อมเป็นสัญญาณสำหรับหมู่ชนผู้ใคร่ครวญ

(20: 53- 54):
"(พระองค์คือพระผู้ทรงทำให้แผ่นดินเป็นพื้นราบเรียบ (เป็นอู่อันไพศาล) สำหรับพวกท่าน และทรงทำให้มีหนทางณ ที่นั้นสำหรับพวกท่านสัญจร และทรงหลั่งน้ำฝนมาจากฟากฟ้าและได้ให้งอกเงยออกมาโดยนัย (ของน้ำ) นั้นซึ่งพืชผลนานาชนิดเป็นคู่ๆ (*1*) จงกิน และจงเลี้ยงปศุสัตว์ของพวกเจ้า (ด้วยพืชผลเหล่านี้) แท้จริงในนั้น แน่นอน ย่อมเป็นสัญญาณมากหลายสำหรับผู้มีปัญญา(*1*)"

(79: 30-33):
และแผ่นดินนั้น พระองค์ได้ทรงเหวี่ยงมัน (ออกมาจากมวลใหญ่ของดาวเคราะห์) หลังจากนั้น (คือหลังจากได้สร้างเวหาและชั้นฟ้า หรือ ทรงแผ่มัน’ ทำให้แผ่นดินเป็นพื้นราบเรียบก็ได้) พระองค์ได้ทรงนำออกมาจากนั้น (แผ่นดิน) ซึ่งน้ำของมันและทุ่งหญ้าของมัน ส่วนขุนเขานั้นพระองค์ได้ทรงทำมันให้มั่นคง ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยยังชีพสำหรับพวกเจ้า และสำหรับปศุสัตว์ของพวกเจ้า”  

โองการเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทและประโยชน์ของน้ำเพื่อยังชีวิตทุกชีวิตบนโลกนี้ ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่าคำกล่าวในอัล-กุรอานนั้นไปไกลเหนือรายละเอียดทางภูมิศาสตร์มากนัก
— จากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โลกประกอบด้วยน้ำในสัดส่วนที่สูงมาก เป็นลักษณะพิเศษไม่มีที่ใดเหมือนของระบบสุริยะจักรวาล และนี่คือสิ่งที่ถูกเน้นในอัล-กุรอาน หากปราศจากน้ำแล้ว โลกก็จะเป็นดาวที่แห้งแล้งหรือตายแล้วเช่นเดียวกับดวงจันทร์ และในบรรดาปรากฎการณ์ธรรมชาติทั้งหมดของโลกมนุษย์นั้น อัล-กุรอานได้เอ่ยถึงน้ำเป็นสิ่งแรกสุด วัฏจักรของน้ำถูกอธิบายได้ถูกต้องแม่นยำอย่างน่าทึ่งในอัล-กุรอาน ในปัจจุบันเมื่อเราอ่านโองการจากอัล-กุรอานที่เกี่ยวกับบทบาทของน้ำที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เราก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เหตุผลนะหรือ ตอบได้แสนง่าย ก็เพราะในยุคของเราทุกวันนี้ เราทุกคนต่างก็มีความรู้เรื่องวัฏจักรของน้ำในธรรมชาติเป็นอย่างดีแล้วนะสิ!
นอกจากได้รับอิทธิพลจากอัล-กุรอาน, ฮะดิษ, และนักการศาสนาอิสลามแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างอิสลามและการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์ยังมองเห็นได้จากระดับอื่นๆ เพราะการที่สังคมใด คนกลุ่มใด จะประสบกับความสำเร็จ ความก้าวหน้า ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงสงครามหรือสันติภาพ ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจหรือเรื่องส่วนตัว ทุกคนต่างก็ต้องมีแรงกระตุ้นถึงจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้ และอิสลามก็ได้เป็นพลังนั้นที่ผลักดันให้ชาวมุสลิมรังสรรค์อารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของโลกขึ้นมาในช่วงค.ศ.800-1200
อิสลามทำให้มนุษย์ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น ยกระดับให้สังคมโดยรวมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะนั่นคือภาระหน้าที่ต่อศาสนาของมุสลิมทุกคนที่เป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้คนในทุกลักษณะและทุกรูปแบบ ซึ่งรวมไปถึงความรู้ด้วย ดังนั้นทั่วโลกมุสลิมจึงมีการตามล่าหาความรู้ปรากฎอยู่ทั่วไป การคิดค้นทางวิทยาศาสตร์ในโลกมุสลิมก็เป็นไปเพื่อปรับปรุงสังคมในรูปแบบของการสักการะพระผู้เป็นเจ้า การพัฒนาด้านแพทย์ศาสตร์ การก่อสร้างโรงพยาบาล การสร้างห้องสมุดและมาดราซานับร้อยแห่ง การสร้างสวนพฤกษชาติเขียวขจีและอื่นๆ อีกมากมายได้ทำให้โลกมุสลิมกลายเป็นโอเอซิสแห่งแสงสว่างท่ามกลางความมืดมิดโดยรอบ การที่อิสลามเน้นความดีเลิศและแสวงหาความสมบูรณ์แบบเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่ผลักดันให้เกิดอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ สิ่งเหล่านี้อธิบายได้ว่าทำไมความรู้เรื่องดาวและท้องฟ้าของโลกมุสลิมถึงสูงกว่ามาตรฐานทั่วไป ความรู้เรื่องการผ่าตัดและวินิจฉัยโรค และความแม่นยำในการทำแผนที่เหนือกว่าใคร ทั้งยังอธิบายว่าทำไมนักวิทยาศาสตร์มุสลิมถึงพัฒนาวิธีการหาความรู้โดยการทดลอง คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และเครื่องไม้เครื่องมือที่มีความแม่นยำสูง และนี่ก็ตอบคำถามว่าทำไมสวนของชาวมุสลิม ห้องสมุด และโรงพยาบาลถึงได้มาตรฐานมาจนถึงทุกวันนี้ในส่วนใหญ่ของโลกมุสลิม และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมนักวิชาการมุสลิมถึงเขียนหนังสือที่เน้นรายละเอียดและมีความถูกต้องสูง
ศรัทธาเดียวกันนี้เองที่ได้ผลักดันให้ชาวมุสลิมเผยแพร่อิสลามสู่ดินแดนต่างๆ และขับเคลื่อนชาวมุสลิมให้เผยแพร่ความรู้และวิทยาการ และแน่นอนว่าเมื่อคนส่วนใหญ่ของสังคมหรือทั้งสังคมได้รับการกระตุ้นเพื่อไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า มีชีวิตชีวาเพราะศรัทธานั้น และพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะสร้างสรรค์ ค้นหา และประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ จึงไม่ต้องสงสัยเลยเมื่อเห็นว่าวงการวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นักปราชญ์ หนังสือ และความเยี่ยมยอดได้ระเบิดออกมากันขนานใหญ่ ไม่เคยมียุคใดในประวัติศาสตร์โลกที่จะเกิดขึ้นดังที่เคยปรากฎภายใต้ร่มธงอิสลาม.
ที่มา: Salah Zaimeche BA, MA, PhD. Islam and Science. Foundation for Science Technology and Civilization (FSTC Limited): UK. August 2002.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น